คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางสาว พ. จำเลยซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสของโจทก์และนาง พ. จากนาง พ. โดยเข้าใจว่านาง พ. เป็นหม้ายเนื่องจากโจทก์ไปมีภริยาใหม่และได้ทิ้งร้างนาง พ. จำเลยทำนิติกรรมกับนาง พ. โดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยกับนาง พ. ซึ่งถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางพิมพ์ผู้ตายได้ขายที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสของโจทก์และผู้ตายให้แก่จำเลย จำเลยซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตเนื่องจากทราบว่าโจทก์เป็นสามีของนางพิมพ์และไม่ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาดังกล่าว ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5249 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างนางพิมพ์กับจำเลย และเพิกถอนนิติกรรมจำนองเหนือที่ดินแปลงดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของนางพิมพ์จำเลยซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางพิมพ์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2508 ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2545 นางพิมพ์ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5249 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยในราคา 1,000,000 บาท โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมและมิได้ให้สัตยาบันและในวันเดียวกันจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวต่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ในวงเงิน 700,000 บาท นางพิมพ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2545
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า มีเหตุเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างนางพิมพ์กับจำเลยหรือไม่ โจทก์อ้างว่านางพิมพ์ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยโดยโจทก์มิได้ยินยอมและมิได้ให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 จึงต้องพิจารณาตามความในวรรคหนึ่งว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นจำเลยได้กระทำโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว โจทก์นำสืบว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางพิมพ์ อยู่กินด้วยกันตลอดไม่เคยทิ้งร้าง ที่ดินพิพาทมีราคา 5,000,000 บาท จำเลยนำสืบว่า ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาจำเลยไม่เคยเห็นโจทก์อยู่กับนางพิมพ์ นางพิมพ์บอกจำเลยว่าโจทก์มีภริยาใหม่ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครนายก ชาวบ้านในละแวกดังกล่าวก็ทราบว่าโจทก์ไปมีภริยาใหม่ ในข้อที่จำเลยนำสืบนี้ ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.3 ว่าโจทก์ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่จังหวัดนครนายก สอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลย ส่วนที่โจทก์อ้างว่าไปทำงานที่จังหวัดปราจีนบุรีคงมีแต่คำเบิกความของโจทก์กับนางอำไพบุตรโจทก์เท่านั้น นอกจากนี้โจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า บุคคลทั่วไปรวมทั้งญาติเข้าใจว่าโจทก์ทิ้งร้างนางพิมพ์เจือสมกับคำเบิกความของจำเลย แม้โจทก์จะจดทะเบียนสมรสกับนางพิมพ์ก็ตาม แต่โจทก์มิได้นำสืบให้รับฟังได้ว่าจำเลยทราบเรื่องดังกล่าว ส่วนที่โจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทมีราคา 5,000,000 บาท นั้น คงมีแต่เพียงโจทก์และนางอำไพบุตรโจทก์เบิกความลอยๆ ว่าที่ดินพิพาทมีราคาประมาณ 5,000,000 บาท แม้จำเลยเบิกความว่า ที่ดินใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทจะขายในราคา 1,000,000 บาท ต่อ 18 ตารางวา ก็มิได้หมายความว่าที่ดินพิพาทจะมีราคาถึง 5,000,000 บาท ดังที่โจทก์อ้าง เพราะที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกันหาใช่ว่าจะขายได้ในราคาเดียวกันเสมอไปไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนจึงยังฟังไม่ได้ว่า ที่ดินพิพาทมีราคา 5,000,000 บาท ตามที่อ้าง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเบิกความว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประเมินประมาณ 2,000,000 บาท ราคาที่ดินพิพาทที่จำเลยซื้อจากนางพิมพ์จึงเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทจะมีราคาประเมิน 2,000,000 บาท ดังที่จำเลยเบิกความก็ตาม แต่การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางพิมพ์กับจำเลยเป็นการซื้อขายที่ดินในฐานะที่จำเลยเป็นหลานของนางพิมพ์และได้ให้ความช่วยเหลือดูแลนางพิมพ์ซึ่งอยู่ในวัยชรา การที่จำเลยซื้อที่ดินพิพาทในราคา 1,000,000 บาท จึงหาใช่เป็นเรื่องผิดปกติและยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใดไม่ พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางพิมพ์ จำเลยซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยเข้าใจว่านางพิมพ์เป็นหม้ายเนื่องจากโจทก์ไปมีภริยาใหม่และได้ทิ้งร้างนางพิมพ์ พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับนางพิมพ์โดยสุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share