คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1888/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่งมีระยะเวลาที่แน่นอนชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัดมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายกำหนดกันไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้
ตามสัญญากู้เงิน ข้อ 5 กำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดการเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยผู้ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ และในกรณีผู้กู้มิได้จัดทำประกันภัย แต่ผู้ให้กู้เป็นผู้จัดทำประกันภัยแทนผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันภัยคืนให้แก่ผู้ให้กู้ก่อนการชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้น กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่ที่โจทก์ขอมาตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังจากวันฟ้อง ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคตและจะถือว่าจำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ยังไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว

ย่อยาว

ทำสัญญาโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 จำเลยกู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 790,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินและอาคาร ตกลงดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าจำเลยจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 7,900 บาท ภายในทุกวันที่ทำสัญญากู้เงินเริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไป โดยชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 25 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ยืม หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินงวดหนึ่งงวดใด ยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันที และหากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระหนึ่งปีทบรวมเข้ากับต้นเงินได้ หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินงวดหนึ่งงวดใด ยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายให้โจทก์เรียกเก็บได้ ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2548 จำเลยได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 รับว่า ณ วันดังกล่าวเป็นหนี้ต้นเงินจำนวน 780,574.12 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 275,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยในต้นเงินปีที่ 1 อัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี และปีที่ 2 อัตราร้อยละ 3.75 ต่อปี ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยยินยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR-0.25 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ โดยโจทก์จะแจ้งการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นให้จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะอัตราดอกเบี้ย MRR ที่โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และได้เปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาเงินกู้โดยจะผ่อนชำระเงินกู้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 39 ปี 2 เดือน นับแต่วันทำสัญญากู้เงินเดิมส่วนเงื่อนไขและข้อตกลงอื่นๆ ที่ไม่กำหนดไว้ในบันทึกต่อท้ายสัญญานี้ให้เป็นไปตามสัญญาเดิมทุกประการ และเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์ จำเลยได้นำที่ดินตามโฉนดเลขที่ 178686 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์ในวงเงิน 790,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดชำระเงินส่วนที่ขาดจนครบถ้วน นอกจากนั้นจำเลยยังสัญญาจะทำประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และจำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าเบี้ยประกันภัยตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์จนครบถ้วน หากจำเลยไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยและโจทก์ได้ชำระแทนจำเลยยอมชำระเงินคืนให้โจทก์หรือยอมให้โจทก์ทบเงินค่าเบี้ยประกันภัยรวมเข้ากับต้นเงินกู้ และยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับสัญญากู้ตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เงินกู้เสร็จสิ้น นับแต่จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์ได้ประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์ค้างชำระหนี้ติดต่อกันหลายงวด โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 จำนวน 5,000 บาท และโจทก์ได้ออกเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยไปก่อนรวม 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 จำนวน 1,226.22 บาท ซึ่งจำเลยได้ชำระคืนให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ในระหว่างการกู้ยืมเงินโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจำนวน 12 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 จากอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ก่อนฟ้องคดีโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแต่จำเลยเพิกเฉย นับถึงวันฟ้องมีหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์เป็นต้นเงิน 780,574.12 บาท และดอกเบี้ย 341,138,41 บาท รวมเป็นเงิน 1,121,712.53 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,121,712.53 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 780,574.12 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระหนี้ประกันภัยจำนวน 1,226.22 บาท ของทุกสามปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 794,126.40 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 780,574.12 บาท นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2548 อัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 และนับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2542 นอกนั้นคงให้คิดอัตราดอกเบี้ยตามบัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.12 และอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2539 เป็นต้นมา หักออกจากจำนวนหนี้ ณ วันที่ชำระแต่ละครั้ง โดยหักชำระค่าเบี้ยประกันภัยก่อน หากมีเงินคงเหลือจึงชำระดอกเบี้ยและต้นเงินต่อไป หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 178686 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 จำเลยทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 790,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินและอาคาร ตกลงดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 25 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ยืม ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2548 จำเลยได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 รับว่า ณ วันดังกล่าวเป็นหนี้ต้นเงินจำนวน 780,574.12 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 275,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยในปีที่ 1 อัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี และปีที่ 2 อัตราร้อยละ 3.75 ต่อปี ส่วนระยะเวลาที่เหลือ จำเลยยินยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ MRR-0.25 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ โดยโจทก์จะแจ้งการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นให้จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะอัตราดอกเบี้ย MRR ที่โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และได้เปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาเงินกู้โดยจะผ่อนชำระเงินกู้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 39 ปี 2 เดือน นับแต่วันทำสัญญากู้เงินเดิม ส่วนเงื่อนไขและข้อตกลงอื่นๆ ที่ไม่กำหนดไว้ในบันทึกต่อท้ายสัญญานี้ให้เป็นไปตามสัญญาเดิมทุกประการ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่โจทก์ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยของโจทก์เป็นการปรับตามข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา และโดยอาศัยกฎหมายที่โจทก์มีสิทธิคิดได้มิได้มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลฎีกาเห็นว่า เบี้ยปรับ คือ สัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อพิจารณาตามสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.6 และ จ.9 ปรากฏว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่โจทก์ในอัตราคงที่ 3 ปี อัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า และตามบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินระบุว่าผู้กู้รับว่าเป็นหนี้ต้นเงินจำนวน 780,574.12 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 275,000 บาท โดยจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในปีที่ 1 อัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี และปีที่ 2 อัตราร้อยละ 3.75 ต่อปี ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยยินยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR-0.25 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ โดยโจทก์จะแจ้งการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นใหม่จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะอัตราดอกเบี้ย MRR ที่โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ความในสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินดังกล่าวแสดงว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่โจทก์ในอัตราและเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน ดังนั้น การที่โจทก์ทำการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแตกต่างไปจากอัตราและเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน เป็นอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 นับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2537 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2548 และนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นต้นไป และปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 และนับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2542 ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาที่ใช้ดอกเบี้ยคงที่ตามสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินและเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ในแต่ละช่วงเวลา ย่อมแสดงว่าโจทก์ทำการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยอาศัยเหตุที่จำเลยผิดนัดตามความในสัญญากู้ข้อ 3 และบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินข้อ 4 ที่ระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ตามที่กำหนดไว้ไม่ว่างวดหนึ่งงวดใด ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดเมื่อใดก็ได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ หาใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่สูงขึ้นตามปกติโดยอาศัยข้อตกลงในสัญญากู้เงินไม่ ดังนั้น เมื่อสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่ง มีระยะเวลาที่แน่นอนชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัดเช่นนี้มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไมชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม ถึงวันที่ 3 มกราคม 2548 อัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 และนับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2542 และอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกนั้นคงให้คิดอัตราดอกเบี้ยตามรายการปรับอัตราดอกเบี้ยและบัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.10 และ จ.12 จึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการยึดทรัพย์จำนองโดยไม่ระบุให้ยึดสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.7 จำเลยได้นำที่ดินตามโฉนดเลขที่ 178686 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียนจำนองแก่โจทก์ และโจทก์ฟ้องขอให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดหากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ดังนั้น เมื่อทรัพย์ที่จำเลยนำมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ได้แก่ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 178686 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์โดยไม่ระบุให้ยึดสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นสมควรแก้ให้ถูกต้อง อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องแก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 5 กำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดการเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยผู้ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ และในกรณีผู้กู้มิได้จัดทำประกันภัย แต่ผู้ให้กู้เป็นผู้จัดทำประกันภัยแทนผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันภัยคืนให้แก่ผู้ให้กู้ก่อนการชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้น กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่กรณีที่โจทก์ขอมาตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังจากวันฟ้อง เห็นว่า กรณีเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคตและจะถือว่าจำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ของตนยังไม่ได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 178686 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share