คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6969/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิได้มีการนัดอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์และจำเลยฟังโดยเปิดเผยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสองแล้ว แม้ในวันดังกล่าว จะมิได้เป็นวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น อีกทั้งเสร็จการพิจารณาก่อนนั้นแล้ว การอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นครั้งหลังจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (2)
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จและสืบพยานจำเลยได้ 2 ปาก จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่รับสารภาพตามฟ้อง โดยจำเลยขอผ่อนชำระเงินให้ผู้เสียหายเดือนละ 25,000 บาท ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 มกราคม 2543 ครั้นถึงวันนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 20 มกราคม 2543 จำเลยไม่มาศาลโดยยื่นคำร้องอ้างว่าป่วย แต่ได้ฝากเงินมาชำระให้ผู้เสียหายบางส่วนจำนวน 8,000 บาท และขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาออกไป ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย โดยพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (2) ลงโทษจำคุก 10 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 เดือน
จำเลยอุทธรณ์การอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่อ่านลับหลังจำเลยว่าขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสาม และอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาใหม่แล้วดำเนินการต่อไป
ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันนัดโจทก์และจำเลยมาศาล เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังแล้ว ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นฉบับเดิมให้โจทก์และจำเลยฟังใหม่
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 5 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้โจทก์จำเลยฟังในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ซึ่งเป็นวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการอ่านคำพิพากษาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลอ่านให้คู่ความฟังแล้ว ให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ ถ้าเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่มาจะอ่านโดยโจทก์ไม่อยู่ก็ได้ ในกรณีที่จำเลยไม่อยู่ โดยไม่มีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง ก็ให้ศาลรอการอ่านไว้จนกว่าจำเลยจะมาศาล แต่ถ้ามีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง ให้ศาลออกหมายจับจำเลย เมื่อได้ออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกหมายจับ ก็ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่าโจทก์หรือจำเลยแล้วแต่กรณีได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว” แสดงว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ประสงค์จะให้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย แต่หากจำเลยหลบหนีไม่สามารถนำตัวมาฟังคำพิพากษาได้ก็อนุญาตให้อ่านคำพิพากษาลับหลังได้ หากพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันออกหมายจับ ดังนั้น ในวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 โจทก์และจำเลยมาศาลพร้อม เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังแล้ว ศาลจึงอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์และจำเลยฟัง ถือได้ว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในศาลให้โจทก์และจำเลยฟังโดยเปิดเผย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสอง แล้ว แม้ในวันดังกล่าวจะมิได้เป็นวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ตาม การอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน.

Share