คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18949/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 102 หมายถึงการลาไปร่วมประชุมในเรื่องเกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและเป็นสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างสังกัดอยู่เท่านั้น
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ระบุว่าจำเลยให้กรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกลาไปเพื่อดำเนินกิจการสหภาพแรงงานได้ตามที่หน่วยราชการมีหนังสือขอความร่วมมือโดยไม่ถือเป็นวันลานั้น ไม่ได้ให้สิทธิโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลนอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 การลาไปร่วมประชุมที่จะไม่ถือเป็นวันลาจึงหมายความถึงการลาไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและเป็นสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่โจทก์สังกัดอยู่เท่านั้น การที่โจทก์ลาไปร่วมประชุมเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยควรมีสาระสำคัญอย่างไร และลาไปร่วมสัมมนาทางวิชาการรวมพลังส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ใช่การประชุมในเรื่องเกี่ยวกับสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่โจทก์สังกัดอยู่ ไม่ใช่การลาที่ไม่ถือเป็นวันลาตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ มบ.374/2550 ของศาลแรงงานกลาง แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 573 บาท และเบี้ยขยัน 290 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก 7 วัน นับแต่วันครบกำหนดจ่ายค่าจ้างงวดแรกไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงิน 382 บาท และเบี้ยขยัน 290 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการจ่ายเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่าการลาของโจทก์ในวันที่ 9 มีนาคม 2550 และวันที่ 15 มีนาคม 2550 เป็นการลาไปเพื่อดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ถือเป็นวันลาใช่หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การลาทั้งสองวันเป็นการลาเพื่อเข้าร่วมประชุมสัมมนา ไม่เกี่ยวกับกิจการของสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่โจทก์สังกัดอยู่ จึงไม่เป็นการลาตามความในมาตรา 102 แห่งระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และไม่เป็นการลาเพื่อดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มิให้ถือเป็นวันลา จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันลา และเมื่อโจทก์ไม่มาทำงานให้จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเบี้ยขยันให้แก่โจทก์ พิเคราะห์แล้ว บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยลงวันที่ 7 มีนาคม 2546 ข้อ 6 มีข้อความว่า “บริษัทฯตกลงให้กรรมการสหภาพแรงงานฯและสมาชิกลาไปเพื่อดำเนินกิจกรรมสหภาพฯ ได้ตามที่หน่วยงานราชการได้มีหนังสือขอความร่วมมือไป โดยไม่ถือเป็นวันลา” ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา การไกล่เกลี่ยและการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน และมีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ ทั้งนี้ให้ลูกจ้างดังกล่าวแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี และให้ถือว่าวันลาของลูกจ้างนั้นเป็นวันทำงาน” เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 102 เป็นการให้สิทธิลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาไปเพื่อดำเนินกิจการสหภาพแรงงาน และไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ จึงต้องหมายถึงการลาไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและเป็นสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างดังกล่าวสังกัดอยู่เท่านั้น มิใช่สหภาพแรงงานใด ๆ ก็ได้หรือประชุมในเรื่องใด ๆ ก็ได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด มิฉะนั้นลูกจ้างก็จะอ้างสิทธิไปร่วมประชุมในเรื่องที่ทางราชการกำหนดได้ทุกเรื่อง หากกฎหมายประสงค์จะให้สิทธิลูกจ้างประชุมในเรื่องอื่นก็จะต้องบัญญัติไว้ แม้คดีนี้จะมีการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ด้วยตามความในข้อ 6 แต่ความในข้อ 6 ก็มิได้ให้สิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานนอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ความในข้อ 6 จึงหมายความถึงการลาไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและเป็นสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่ลูกจ้างสังกัดอยู่เท่านั้น ตามหนังสือเชิญโจทก์ประชุมลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งโจทก์ขอลาไปเข้าร่วมประชุมในวันที่ 9 มีนาคม 2550 ระบุชื่อเรื่องไว้ว่า “ขอเชิญร่วมประชุมสัมมนาระดมความเห็นเวทีระดับชาติ เรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยควรมีสาระสำคัญอย่างไร” และตามหนังสือเชิญโจทก์ประชุมลงวันที่ 8 มีนาคม 2550 ซึ่งโจทก์ขอลาไปเข้าร่วมประชุมในวันที่ 15 มีนาคม 2550 ก็ระบุชื่อเรื่องไว้ว่า ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการรวมพลังส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพ การเชิญประชุมทั้งสองครั้งจึงมิใช่เป็นการประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่โจทก์สังกัดอยู่ และมิใช่การลาที่ไม่ถือเป็นวันลาโดยถือเป็นวันทำงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยหรือตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 102 เมื่อโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลยในวันที่ 9 มีนาคม 2550 และวันที่ 15 มีนาคม 2550 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันทำงานทั้งสองวันให้แก่โจทก์ ส่วนเบี้ยขยันเป็นเงินที่จำเลยจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานโดยไม่ลาไม่ขาด เมื่อโจทก์ขอลาไปเข้าร่วมประชุมโดยมิได้ทำงานให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเบี้ยขยันให้แก่โจทก์ด้วยเช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง 382 บาท เบี้ยขยัน 290 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share