แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ต้องพิจารณาจากคำฟ้อง โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดบรรยายฟ้องว่า โจทก์แต่ละคนเข้าทำงานกับจำเลยตามวัน เดือน ปี ที่ระบุในคำฟ้องจนถึงวันสุดท้ายที่อ้างว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง และเรียกค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลา โดยนับจากวันที่โจทก์แต่ละคนเข้าทำงานจนถึงวันสุดท้ายที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุแล้วคำนวณเป็นยอดเงินรวมของค่าจ้าง ค่าทำงานวันหยุด และค่าล่วงเวลา โดยมิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยค้างจ่ายเงินดังกล่าวในงวดใด วัน เดือน ปีใด และค้างจ่ายแต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด โดยเฉพาะวันหยุดนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 มีถึง 3 ประเภท คือวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งตามมาตรา 61 บัญญัติค่าทำงานในวันหยุดสำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดกับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดไว้แตกต่างกัน แต่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดมิได้บรรยายคำฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยค้างชำระค่าทำงานในวันหยุดประเภทใด อัตราค่าทำงานในวันหยุดเท่าไร คำฟ้องของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดจึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม
การกำหนดประเด็นพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ
เดิมโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดซึ่งเป็นคนต่างด้าวพักอาศัยในโรงงานของจำเลย ต่อมาขอออกไปพักอาศัยนอกโรงงานโดยทำข้อตกลงร่วมกับจำเลยว่าโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดมีหน้าที่ต้องดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลงโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง การที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดไม่ดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าหากไม่มีใบอนุญาตทำงานจะไม่สามารถทำงานกับจำเลยต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป การที่จำเลยไม่ให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดทำงานเป็นการดำเนินการให้ต้องตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปด หาใช่เกิดจากความประสงค์ของจำเลยแต่ต้นที่จะไม่ให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดทำงานไม่
ย่อยาว
คดีทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 6 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 158 ตามลำดับ และให้เรียกจำเลยทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 158 แต่ละคนตามจำนวนที่ระบุในคำขอท้ายฟ้องพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินของโจทก์แต่ละคนจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดในประการแรกที่สมควรยกขึ้นวินิจฉัยก่อนใน ข้อ 3.2 ว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดสำหรับในส่วนของค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดอ้างว่าจำเลยค้างจ่ายเคลือบคลุมหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดอุทธรณ์ทำนองว่า โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดบรรยายฟ้องถึงความเป็นนายจ้างลูกจ้าง สภาพการจ้าง การจ่ายค่าจ้างไว้ครบถ้วน จำเลยไม่หลงต่อสู้คดีอีกทั้งจำเลยได้ส่งเอกสารการจ่ายค่าจ้างเข้ามาในคดี เห็นว่า การพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่จะต้องพิจารณาจากคำฟ้อง โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดเข้าทำงานกับจำเลยตามวัน เดือน ปี ที่ระบุในคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนจนถึงวันสุดท้ายที่โจทก์แต่ละคนอ้างว่าถูกจำเลยเลิกจ้างคือวันที่ 29 ธันวาคม 2548 และบรรยายฟ้องเรียกค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดอ้างว่าจำเลยค้างจ่าย โดยนับจากวันที่โจทก์แต่ละคนเข้าทำงานจนถึงวันสุดท้ายที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุแล้วคำนวณเป็นยอดเงินรวมของค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลา โดยมิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยค้างจ่ายเงินดังกล่าวในงวดใด วัน เดือน ปีใด และค้างจ่ายแต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด โดยเฉพาะวันหยุดนั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 มีถึง 3 ประเภท คือวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งตามมาตรา 61 กำหนดค่าทำงานในวันหยุดสำหรับลูกจ้าง ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดกับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดไว้แตกต่างกัน แต่ทนายความของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดก็มิได้บรรยายคำฟ้องให้ชัดแจ้งว่า จำเลยค้างชำระค่าจ้างในวันหยุดประเภทใด อัตราค่าทำงานในวันหยุดเท่าไร ฟ้องโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดจึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดฟังไม่ขึ้น
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดอุทธรณ์ข้อ 3.1 ในทำนองว่า ศาลแรงงานภาค 6 กำหนดให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดนำสืบก่อนแล้วจึงให้จำเลยสืบแก้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดเสียเปรียบ เนื่องจากจำเลยอ้างข้อเท็จจริงในคำให้การขึ้นใหม่ว่า จำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงต้องมีหน้าที่นำสืบก่อนนั้น เห็นว่า การกำหนดประเด็นพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ว่าในกรณีมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกัน ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาทและบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การของจำเลยอ่านให้คู่ความฟังและให้ลงลายมือชื่อไว้ โดยจะระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้ แล้วให้ศาลแรงงานกำหนดวันสืบพยานไปทันที บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังนั้นเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้าย ข้อ 3.3 ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดหรือไม่ และจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดนำสืบให้เห็นชัดเจนว่าหลังจากมีการทำบันทึกข้อตกลงแล้ว โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดก็ย้ายไปพักอาศัยอยู่นอกโรงงานของจำเลย และจะเข้าไปภายในโรงงานของจำเลยได้ก็ต่อเมื่อมีชื่อปรากฏอยู่ในประกาศที่จำเลยปิดเอาไว้ ประกอบกับจำเลยไม่ดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปด ทั้ง ๆ ที่เดิม หากโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดพักอาศัยอยู่ภายในโรงงานของจำเลย จำเลยก็จะดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานให้ โดยจำเลยจะหักค่าจ้างหรือค่าตอบแทนภายหลัง โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดจึงถูกจำเลยกลั่นแกล้งไม่ยอมให้กลับเข้าไปทำงาน ไม่จ่ายงานให้ทำและไม่จ่ายค่าจ้าง ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดและการที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยว่า ลูกจ้างที่อยู่ในโรงงานการจะหลบหนีย่อมทำได้ยาก ไม่เกี่ยวกับสภาพการจ้างและอำนาจการบังคับบัญชาไม่น่าจะเกี่ยวกับการควบคุมตัวบุคคลอันอาจเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานที่ขัดต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงว่าเดิมโจทก์ทั้งร้อยห้าสิบแปดพักอาศัยในโรงงานของจำเลย ต่อมาได้ขอออกไปพักอาศัยนอกโรงงานโดยทำข้อตกลงร่วมกันกับจำเลยตามบันทึกข้อตกลง โดยโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดมีหน้าที่ต้องดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลงโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง ต่อมาโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดไม่ได้นำพาต่อการดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และปล่อยปละละเลยให้ใบอนุญาตทำงานหมดอายุไปแล้ว จำเลยจึงไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดเข้าทำงานอีก เพราะจำเลยเกรงจะมีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้นการที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดไม่ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าหากไม่มีใบอนุญาตทำงานก็จะไม่สามารถทำงานกับจำเลยต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป การที่จำเลยไม่ให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดทำงานก็เป็นการดำเนินการให้ต้องตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดที่ไม่ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานนั่นเอง หาใช่เกิดจากความประสงค์ของจำเลยแต่ต้นที่จะไม่ให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดทำงานไม่ ที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปด จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดจึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดประการสุดท้ายนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน