คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้รับจำนอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิการรับจำนองที่ดินพิพาทให้แก่ บสท. ส. จำกัด ดังนั้น จำเลยไม่ใช่ผู้รับจำนองแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับจำเลยให้ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ขณะโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และยื่นฟ้องคดีนี้นั้น จำเลยไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในการรับจำนองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ชอบแล้ว และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 59346 ตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินแปลงดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำเลยยื่นคำร้องว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จำเลย ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จำเลย ได้โอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิการรับจำนองที่ดินพิพาทให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ไปตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2547 แล้ว บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จำเลย ไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้รับจำนอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงขอให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลชั้นต้นสอบแล้ว ทนายโจทก์แถลงไม่ค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งจำหน่ายคดีชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จำเลย ล้มละลาย อำนาจในการสู้คดีจึงเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) ซึ่งโจทก์ก็ได้ฟ้องบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลย ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และมีคำสั่งจำหน่ายคดี จึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องของจำเลยและคำแถลงไม่ค้านของทนายโจทก์ว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จำเลย ได้โอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิการรับจำนองที่ดินพิพาทให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ไปตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2547 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยประเด็นอำนาจฟ้อง ซึ่งโจทก์ได้ฎีกาในประเด็นนี้แล้วว่า การโอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิการรับจำนองที่ดินพิพาทให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยังไม่มีการแก้ไขทางทะเบียน จึงไม่ผูกพันโจทก์ และมีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จำเลย ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 59346 ตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินแปลงดังกล่าว แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้รับจำนองในโฉนดที่ดิน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จำเลย ได้โอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิการรับจำนองที่ดินพิพาทให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ดังนั้น บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จำเลยไม่ใช่ผู้รับจำนองแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับจำเลยให้ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 59346 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าขณะโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และยื่นฟ้องคดีนี้นั้น บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จำเลย ไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในการรับจำนองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จึงไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น ชอบแล้ว และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 จึงเห็นควรพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปเสียทีเดียว
พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share