คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1567/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อในทะเบียนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุมีชื่อเป็นผู้ประกอบการขนส่ง ที่ข้างรถยนต์บรรทุกมีชื่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ยอมรับว่านำรถยนต์บรรทุกไปประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการขนส่ง และร่วมกันเป็นนายจ้างของ ถ.ผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเมื่อถ. ผู้เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และในการประกอบการขนส่งอันเป็นธุรกิจที่จำเลยทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียนม-0524 ขอนแก่น ประเภทชดใช้ค่าเสียหายสิ้นเชิง วงเงิน 80,000 บาทจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและมีผลประโยชน์ร่วมกันในรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3870 ขอนแก่น และเป็นนายจ้างของนายถวิล (ไม่ทราบนามสกุล) ผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวขณะเกิดเหตุในฐานะตัวแทนปฏิบัติตามคำสั่งในกิจการของจำเลยทั้งสอง หรือในฐานะลูกจ้างปฏิบัติตามทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสอง เพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2528 นายถวิลขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3870 ขอนแก่น ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยขับด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดชนท้ายรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ม-0524 ขอนแก่น ซึ่งมีนายสมรโยทองยศ เป็นผู้ขับ อย่างแรง บนถนนสายโคราช-ขอนแก่น ทำให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทน ตามสัญญาประกันภัยให้เจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวไปแล้ว70,000 บาท เสียค่ายกรถอีก 3,000 บาท จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าว และดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองไม่ใช่นายจ้างของนายถวิลผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-3870 ขอนแก่น รถยนต์คันดังกล่าวจำเลยที่ 2 ขายให้จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นเช่าไปก่อนเกิดเหตุ เหตุรถชนเกิดจากความผิดของผู้ขับรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ม-0524 ขอนแก่นโจทก์ไม่ใช่ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าสินไหมทดแทน ค่าเสียหายไม่เกิน 7,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 71,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่5 พฤศจิกายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต่อไปคือจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจโทนวนิต เติมสินสุข พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีอาญาในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ และถือว่าเป็นพยานคนกลางว่าหลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 1 และบริษัทขอนแก่นชัยมงคลอุตสาหกรรมจำกัด (จำเลยที่ 2) มาขอตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้ฝ่ายคนตาย การตกลงได้ทำบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.3 ของศาลแพ่ง ผู้ชายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้นำหลักฐานทะเบียนรถซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถมาให้ร้อยตำรวจโทวนิตไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนี้รถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวด้านข้างรถยังเขียนว่าบริษัทขอนแก่นชัยมงคลอุตสาหกรรม จำกัด (จำเลยที่ 2) และยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า ในการตกลงค่าเสียหายประมาณ3 ครั้ง มีตัวแทนของฝ่ายจำเลยที่ 2 ไปด้วยทุกครั้ง แม้จะเบิกความต่อมาว่าตัวแทนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมเจรจาชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ฟังได้ว่าไปทุกครั้ง เจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า มีสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ป.จล.1 ของศาลจังหวัดชัยภูมิปรากฏว่าหมายเลขทะเบียนรถไม่ตรงกันเป็นพิรุธ ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายที่แท้จริงนอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่ารถยนต์บรรทุกผู้จะนำวิ่งได้ต้องมีใบอนุญาตประกอบการ จำเลยที่ 1ไม่มีใบประกอบการขนส่ง จึงนำไปวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยวิ่งในนามของจำเลยที่ 2 แม้จะได้ตอบคำถามติงว่าไม่ได้เสียค่าตอบแทนใด ๆให้แก่จำเลยที่ 2 แต่โดยพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อในทะเบียนรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว มีชื่อเป็นผู้ประกอบการขนส่งที่ข้างรถมีชื่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ยอมรับว่านำรถยนต์บรรทุกไปประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 2 อีกทั้งหลังจากเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ยังให้ตัวแทนไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 แม้ว่าขณะที่มีการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย ตัวแทนของจำเลยที่ 2 จะร่วมเจรจาด้วยหรือไม่ก็ตาม พยานโจทก์ที่นำสืบมาเป็นการเพียงพอให้ฟังว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการขนส่ง และร่วมกันเป็นนายจ้างของนายถวิลผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวนั้นด้วยเมื่อลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้างและในการประกอบการขนส่งอันเป็นธุรกิจที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share