คำสั่งคำร้องที่ 124/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2536 ออกไปอีก 20 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2536 เนื่องจากไม่สามารถ ที่จะขอคัดถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ เพราะเหตุว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยังพิมพ์ไม่เสร็จศาลชั้นต้นสั่งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้วก่อนอ่าน คำอ้างของจำเลยจึงรับฟังไม่ได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยเห็นว่า จำเลยได้ยื่นคำแถลงขอคัดถ่ายคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2536 และได้เพียรพยายามไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของศาล เกือบทุกวัน และมารับได้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2536 ซึ่งเวลาได้ล่วงเวลาการยื่นฎีกาของจำเลยแล้ว ปรากฏตามสำเนาใบขอรับถ่ายเอกสารที่แนบมาท้ายคำร้องนี้ สำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นแนวทางอ้างอิงในการเขียนฎีกาของจำเลย จึงถือได้ว่ามีพฤติการณ์ พิเศษที่จำเลยไม่สามารถเขียนฎีกาได้ทันภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โปรดมีคำสั่งให้จำเลยยื่นฎีกาได้ภายใน 20 วัน นับแต่ วันที่จำเลยทราบคำสั่งของศาลฎีกาแล้ว เพื่อที่จำเลยจะได้ ยื่นฎีกาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว แถลงคัดค้าน(อันดับ 119)
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 181,139.73 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน160,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะ ชำระให้โจทก์ครบถ้วน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 160,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 12 กรกฎาคม 2532) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ ให้ยกคำร้อง (อันดับ 111)
ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 114)

คำสั่ง
การขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะ พิจารณาและมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย จึงมิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาจำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ได้กรณี ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252จึงให้ยกคำร้อง

Share