แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในสัญญาเช่าซื้อระบุว่า หากโจทก์ยึดและนำรถยนต์พิพาทออกขายได้เงินไม่พอชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อต้องยอมชำระราคาที่ขาดแก่โจทก์นั้น เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าและไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงใช้บังคับได้ แต่หากเบี้ยปรับกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์สิบล้อนิสสันดีเซลไปจากโจทก์ 1 คัน ราคา 954,420 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 50,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 36 งวด งวดละเดือนงวดแรกชำระวันที่ 22 พฤษภาคม 2529 งวดต่อไปชำระทุก ๆ วันที่ 22ของเดือนจนกว่าจะครบ จำเลยที่ 2 และ จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 5 สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย แต่จำเลยที่ 1ไม่ส่งคืน โจทก์ติดตามยึดรถคืนได้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2530 รถอยู่ในสภาพเสียหายมากต่อมาโจทก์นำรถดังกล่าวออกขายโดยเปิดเผยได้เงิน 420,000 บาท ราคารถจึงยังขาดอยู่อีก 384,420 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องชำระราคาที่ขาดนี้ให้โจทก์ตามสัญญา และหากจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถคืนโจทก์ทันที โจทก์อาจนำรถออกให้เช่าได้ค่าเช่าตามปกติไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาท นับจากวันที่สัญญาเลิกกันถึงวันยึดรถคืนได้เป็นเวลา 5 เดือนเศษ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 150,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 534,420 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบแปดต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัดไม่ชำระค่างวดเพราะตอนชำระเงินค่างวดที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้ตกลงกับโจทก์ให้โจทก์ส่งคนไปเก็บเงินค่างวดต่อไปที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดราชพฤกษ์เฟอร์นิเจอร์ แต่โจทก์ไม่ไปเก็บ จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดในราคารถที่ขาดอยู่อีก 384,420 บาท เพราะความจริงโจทก์นำรถออกขายได้ราคาถึง 700,000 บาท การที่รถเสื่อมสภาพทำให้ราคาตกต่ำไปบ้างก็เนื่องจากการใช้โดยชอบตามวิสัยของวิญญูชนทั่วไป รถดังกล่าวถ้านำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ10,000 บาท รวม 5 เดือน เป็นเงิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 220,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะใช้เงินเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับราคารถยนต์พิพาทที่ขาดแก่โจทก์จำนวน 180,000 บาท กับค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์พิพาทจำนวน 40,000 บาท หรือไม่ เพียงใด ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์พิพาท จำนวน40,000 บาท จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวนนี้เพราะจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญานั้น เป็นการไม่ชอบด้วยเหตุใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 5เป็นต้นมา สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกัน จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบ ย่อมทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์พิพาทที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์พิพาทให้โจทก์เป็นเงิน40,000 บาท เป็นการสมควรแล้ว จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการเช่าซื้อโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์พิพาทดังกล่าวด้วย
ส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับราคารถยนต์พิพาทที่ขาดไปนั้น สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 9 ระบุว่าเมื่อโจทก์ยึดรถยนต์พิพาทคืนมาแล้ว โจทก์อาจใช้สิทธินำรถยนต์พิพาทออกขายตามราคาที่เห็นสมควรเงินที่ขายได้เมื่อนำไปชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแล้วหากไม่พอจำเลยที่ 1 ยอมชำระราคาที่ขาดแก่โจทก์ข้อสัญญานี้เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าและไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงใช้บังคับได้ จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดในค่าเสียหายนี้ต่อโจทก์ด้วยแต่หากเบี้ยปรับนี้กำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ปัญหาว่าค่าเสียหายนี้สมควรกำหนดให้เพียงใด ในเรื่องนี้โจทก์มีนายถนัด เฝ้าทรัพย์ผู้รับมอบอำนาจเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียวว่าโจทก์ติดตามยึดรถยนต์พิพาทคืนมาได้ในสภาพเสียหายเนื่องจากการใช้งานไม่ระมัดระวังตามสมควร โจทก์ขายรถยนต์พิพาทที่ยึดคืนมาในราคา420,000 บาท แต่เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าสภาพของรถยนต์พิพาทส่วนใดเสื่อมโทรมบ้าง ดังนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ารถยนต์พิพาทมีสภาพเสียหายมากดังที่โจทก์อ้าง เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับราคาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทเป็นการรวมเอาราคารถที่แท้จริงเข้ากับค่าเช่าแล้ว ราคารถยนต์พิพาทที่แท้จริงย่อมไม่ถึง 954,420 บาท การที่โจทก์ขายรถยนต์พิพาทได้เงินจำนวน420,000 บาท มาก่อนกำหนดเวลาผ่อนชำระตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อรวมกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระในวันทำสัญญาจำนวน 50,000บาท และที่ผ่อนชำระไปแล้ว 4 งวด เป็นเงิน 100,000 บาท กับค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์พิพาทจำนวน 40,000 บาท และการที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์พิพาทเพียง 9 เดือนเศษแล้วเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงินเพียง 50,000 บาทที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ จำนวน 180,000 บาท ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อหนี้ส่วนนี้จำเลยทั้งสามต้องชำระร่วมกัน เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน90,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์