คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ร. และจำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่ายไปแลกเงินสดจากโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมาในฐานะผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904
จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในเช็ค ซึ่งเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่ง ย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ตามมาตรา 900
ศาลต้องเลื่อนคดีเพราะพยานจำเลยปากหนึ่งไม่มาศาลถึง 6 ครั้ง เนื่องจากพยานไม่เต็มใจมาเบิกความโดยพยานหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหมาย พยานเคยมีหนังสือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบว่า พยานไม่เคยเกี่ยวข้องกับจำเลยและไม่ทราบว่าจำเลยจะอ้างเป็นพยานในประเด็นข้อใด แสดงว่าพยานปากนี้อาจจะมิใช่ผู้ที่รู้ข้อเท็จจริงในคดีก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏจากคำแถลงหรือข้อนำสืบของจำเลยว่าพยานดังกล่าวเป็นพยานสำคัญเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีที่จะนำสืบอย่างไรฉะนั้นการที่จะให้ได้ตัวพยานปากนี้มาเบิกความนอกจากจะทำให้คดีต้องล่าช้าแล้ว คำเบิกความของพยานน่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีจำเลยแต่อย่างใด พยานดังกล่าวจึงเป็นพยานที่ประวิงให้ชักช้าแม้การที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความจะมิใช่ความผิดของจำเลย ศาลก็มีอำนาจที่จะงดสืบพยานเช่นว่านั้นเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรค 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางสาวรสสุคนธ์ได้นำเช็คซึ่งจำเลยทั้งสองลงชื่อสั่งจ่ายเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท โดยไม่ได้ลงวันที่มาแลกเงินจากโจทก์ นางสาวรสสุคนธ์และจำเลยที่ ๒ ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒ เมื่อถึงกำหนดวันดังกล่าว โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ จำเลยทั้ง ๒ มอบเช็คพิพาทให้นางสาวรสสุคนธ์เพื่อใช้ประกันหนี้บุคคลอื่น แต่นางสาวรสสุคนธ์มิได้นำเช็คพิพาทไปใช้ตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์รับโอนเช็คพิพาทโดยไม่สุจริต เพราะโจทก์ทราบว่านางสาวรสสุคนธ์ไม่มีสิทธิจะโอนเช็คพิพาทให้โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาเนื่องจากนางสาวรสสุคนธ์และจำเลยที่ ๒ นำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมาในฐานะผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๔ และคดีฟังไม่ได้ว่าการโอนเช็คพิพาทดังกล่าวมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลดังที่จำเลยฎีกา จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทซึ่งเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่ง ย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๐
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบนายมนูญ สืบพงษ์ พยานจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่ไม่ได้พยานดังกล่าวมาเบิกความมิใช่ความผิดของจำเลยนั้น พิเคราะห์แล้วได้ความว่าในการสืบพยานจำเลยทุกครั้ง ศาลต้องเลื่อนคดีเพราะพยานปากนี้ไม่มาศาลถึง ๖ ครั้ง ครั้งแรกจำเลยอ้างว่าพยานไม่มาศาล ครั้งที่สองจำเลยแถลงว่าพยานไม่ยอมรับหมาย ครั้งที่สามจำเลยแถลงว่าพยานไม่มา ทราบว่าพยานไม่เต็มใจมาศาล ครั้งที่สี่จำเลยแถลงว่าพยานไม่ยอมรับหมาย ขอให้ศาลออกหมายจับ ครั้งที่ห้าจำเลยแถลงว่ายังไม่ได้ตัวพยานมาศาลตามหมายจับ ครั้งที่หกก็ยังไม่ได้ตัวพยานมาศาลชั้นต้นจึงสั่งตัดพยานปากนี้แล้วพิพากษาในวันเดียวกัน เห็นว่าที่นายมนูญพยานปากนี้ไม่มาศาล เนื่องจากไม่เต็มใจมาเบิกความเป็นพยานโดยพยานหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหมาย และเคยมีหนังสือถึงศาลชั้นต้น แจ้งให้ทราบว่าตนเองไม่เคยเกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งสองและไม่ทราบว่าจำเลยจะอ้างเป็นพยานในประเด็นข้อใด แสดงว่าพยานปากนี้อาจจะมิใช่ผู้ที่รู้ข้อเท็จจริงในคดีก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏจากคำแถลงหรือข้อนำสืบของจำเลยว่านายมนูญเป็นพยานสำคัญเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีที่จะนำสืบอย่างไร ฉะนั้นการที่จะให้ได้ตัวพยานปากนี้มาเบิกความนอกจากจะทำให้คดีล่าช้าแล้ว คำเบิกความของพยานน่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีจำเลยแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าพยานที่จำเลยจะนำสืบดังกล่าวเป็นพยานที่ประวิงให้ชักช้า แม้การที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความจะมิใช่ความผิดของจำเลยก็ตามศาลก็มีอำนาจที่จะงดสืบพยานเช่นว่านั้นเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๖ วรรคสอง
พิพากษายืน

Share