แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้ทำสัญญาก่อสร้างตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกับกรมการทหารสื่อสารโดยกรมการทหารสื่อสารให้สิทธิแก่จำเลย ในการโฆษณา 8 ปี ในการนี้จำเลยได้ตกลงกับโจทก์ที่ 1 โดยมีข้อสัญญากันว่า ให้โจทก์ที่ 1 ออกเงินลงทุน150,000 บาท และจำเลยในฐานะหัวหน้าสถานีวิทยุตกลงให้สิทธิโจทก์ที่ 1 โฆษณาสินค้าวันละ 2 ชั่วโมง เป็นการตอบแทนมีกำหนด 6 ปี หรือจนกว่าจะหมดสัญญาการก่อสร้างสถานี โจทก์จึงได้มอบเงิน 150,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการก่อสร้าง เมื่อการก่อสร้างสถานีวิทยุดังกล่าวเสร็จแล้ว โจทก์ที่ 1 มอบให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการแทนได้โฆษณาสินค้าได้รวม 2 ปีก็ต้องหยุดเนื่องจากทางราชการสั่งห้ามโฆษณา ต่อมาอีกเกือบ 3 ปีทางราชการอนุญาตให้โฆษณาได้อีก ดังนี้ เมื่อทางราชการมิได้สั่งห้ามโฆษณาเป็นการเด็ดขาดตลอดไปอันจะทำให้การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยและกลับอนุญาตให้ออกอากาศโฆษณาได้อีก การชำระหนี้จึงอยู่ในวิสัยจะกลับขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันได้ และการที่ทางราชการสั่งห้ามโฆษณา ก็แปลไม่ได้ว่าเป็นการหมดสัญญาก่อสร้างสถานี ทั้งสัญญาที่จำเลยทำไว้กับกรมการทหารสื่อสารนั้น กรมการทหารสื่อสารให้สิทธิแก่จำเลยในการโฆษณาถึง 8 ปี จำเลยจึงยังมีความผูกพันที่จะต้องให้สิทธิแก่โจทก์ออกอากาศโฆษณาต่อไปจนครบ 6 ปี
แม้สัญญาที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ที่ 1 นั้นมีว่าจำเลยจะต้องผ่อนชำระเงิน 150,000 บาทคืนโจทก์ภายใน 2 ปี โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยใดๆ แต่ก็มิได้ระบุว่าถ้าไม่ผ่อนชำระคืนตามกำหนด แล้วจะให้คิดดอกเบี้ยต่อกัน และตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าโจทก์มุ่งเอาประโยชน์ตอบแทนจากรายได้จากการออกอากาศโฆษณาสินค้ามากกว่า และเมื่อจำเลยไม่ผ่อนชำระเงินคืนตามกำหนด โจทก์ก็มิได้จัดการประการใด เพิ่งจะบอกกล่าวให้ชำระเงินคืนเมื่อพ้นกำหนดมาหลายปี แต่ก็มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยชำระ เพียงแต่เชิญจำเลยไปทำความตกลงกันเท่านั้น ดังนี้ จำเลยจึงยังมิได้ตกเป็นฝ่ายผิดนัด เพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ย
โจทก์ที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1049 ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใดๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงกับโจทก์ลงทุนก่อสร้างตั้งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ติดต่อขอรับเหมาสร้างจากทางราชการ เพื่อจำเลยจะได้รับผลประโยชน์ในการเข้าจัดการสถานีวิทยุโดยขอให้โจทก์เป็นผู้จัดการลงทุนไปก่อน 150,000 บาท จะคืนเงินให้โจทก์ภายใน 2 ปีนับแต่วันทำสัญญา และจำเลยจะตอบแทนให้โจทก์ทำการโฆษณาสินค้าในสถานีวิทยุวันละ 2 ชั่วโมง มีกำหนด 6 ปี หรือจนกว่าจะหมดสัญญาที่จะทำไว้กับทางราชการโดยไม่ต้องเสียเงินใด ๆ โจทก์ตกลงและมอบเงินให้จำเลย 150,000 บาท และทำสัญญาต่างตอบแทนกันไว้ จำเลยก่อสร้างตั้งเครื่องส่งวิทยุเสร็จดำเนินการได้ และให้โจทก์ใช้เป็นเวลา 2 ปี โจทก์ให้นางวิไลหุ้นส่วนของโจทก์ดำเนินการออกอากาศ ต่อมาทางราชการมีคำสั่งให้งดการโฆษณา โจทก์จึงมิได้ทำการโฆษณา แต่ต่อมาทางราชการอนุญาตให้ทำการโฆษณา จำเลยกลับประพฤติผิดสัญญา ไม่ยอมให้โจทก์ใช้สถานีวิทยุ ทำให้โจทก์เสียหาย ขาดประโยชน์รายได้เดือนละ 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2512 เป็นต้นมา แต่เพื่อบรรเทาความเสียหาย จำเลยได้จัดการให้นางวิไลออกอากาศทำการโฆษณาที่สถานีวิทยุอื่นวันละ 1 ชั่วโมง ทำให้มีรายได้เพียงเดือนละ 7,000 บาท เมื่อหักกลบกันแล้วโจทก์ขาดรายได้เดือนละ 13,000 บาท รวมเวลา 19 เดือน เป็นเงิน 247,000 บาท และค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ออกโฆษณาสินค้าต่อไปอีก 29 เดือน เป็นเงิน 580,000บาท และจำเลยมิได้คืนเงินลงทุนภายในกำหนด ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์เท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี โจทก์ขอคิดเพียง 5 ปี เป็นเงิน 56,250 บาท ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยเป็นการเข้าหุ้นโดยขอรับประโยชน์ใช้เวลาออกอากาศ ซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิเป็นเวลาถึง 2 ปีแล้ว ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งห้ามมิให้สถานีวิทยุกระจายเสียงในสังกัดออกอากาศรายการโฆษณาที่มิใช่เป็นการโฆษณาของทางราชการ จึงเป็นเหตุพ้นวิสัย จำเลยมิได้ผิดสัญญา และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โดยจัดให้โจทก์ได้มีการออกโฆษณาต่อไป และด้วยคำสั่งดังกล่าวถือได้ว่าสัญญาของจำเลยเป็นอันหมด จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ซึ่งมีอยู่ต่อโจทก์ ค่าเสียหายเรียกร้องสูงเกินไป และไม่มีสิทธิเรียกได้ กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม เมื่อเป็นเรื่องโจทก์จำเลยเข้าหุ้นส่วนสามัญ จึงต้องมีการบอกเลิกและการชำระบัญชีก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 232,000 บาทแก่โจทก์
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน290,000 บาท
โจทก์จำเลยต่างฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาก่อสร้างตั้งสถานีวิทยุ โดยโจทก์ที่ 1 ได้ออกเงินลงทุน 150,000 บาทและจำเลยในฐานะหัวหน้าสถานีวิทยุตกลงให้สิทธิโจทก์ที่ 1 โฆษณาสินค้าทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง เป็นการตอบแทนมีกำหนด 6 ปี โดยไม่คิดค่าเช่าหรือค่าบริการใด ๆ เมื่อการก่อสร้างสถานีวิทยุเสร็จแล้ว โจทก์ที่ 1 ได้มอบให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการแทน ได้โฆษณาสินค้าเริ่มแต่เดือนมิถุนายน 2507 ถึงเดือนพฤษภาคม 2509 รวม 2 ปี แล้วหยุดไม่ได้โฆษณาอีก เนื่องจากทางราชการสั่งห้ามโฆษณาในเดือนกันยายน 2509 ต่อมาเมื่อทางราชการอนุญาตให้โฆษณาได้อีก โจทก์จึงได้เริ่มทำการโฆษณาสินค้าที่สถานีวิทยุอื่นแทน โดยการจัดการของจำเลยเป็นเวลา 19 เดือน โจทก์ก็ต้องหยุด เพราะจำเลยบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงินลงทุน โจทก์ได้เงินคืนไปแล้ว คงขาดไม่ได้ออกโฆษณาอยู่อีก 29 เดือนจึงจะครบกำหนด 6 ปีตามสัญญา
ประเด็นแรกจำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน และตามกฎหมายผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1049ฉะนั้น โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ประเด็นที่ 2 จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาที่ว่า “หรือจนกว่าจะหมดสัญญาการก่อสร้างสถานีฯ” นั้นคือมีการห้ามโฆษณา เมื่อทางการห้ามโฆษณาในเดือนกันยายน 2509 สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงหมดผลใช้บังคับ และถือว่าการชำระหนี้เป็นการพ้นวิสัย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ทางราชการสั่งห้ามโฆษณาในเดือนกันยายน 2509 นั้น มิได้สั่งห้ามเป็นการเด็ดขาดตลอดไป อันจะทำให้การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2512 ทางราชการกลับอนุญาตให้ออกอากาศโฆษณาได้อีก การชำระหนี้จึงอยู่ในวิสัยจะกลับขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันได้ และการที่ทางราชการสั่งห้ามโฆษณาก็ไม่น่าจะแปลว่าเป็นการหมดสัญญาก่อสร้างสถานีตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่จำเลยได้ทำสัญญาก่อสร้างตั้งสถานีวิทยุฯ กับกรมการทหารสื่อสารนั้น ทางกรมการทหารสื่อสารให้สิทธิแก่จำเลยในการโฆษณาถึง 8 ปี ดังนั้น สัญญาระหว่างจำเลยกับกรมการทหารสื่อสารจึงยังถือไม่ได้ว่าหมดสัญญาก่อสร้างสถานีตามที่จำเลยนำสืบ จำเลยจึงยังมีความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาที่จะให้สิทธิแก่โจทก์ออกอากาศโฆษณาจนครบ 6 ปีตามกำหนดในสัญญา ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ 3 ประการแรกโจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินลงทุน 150,000 บาท เพราะเมื่อจำเลยไม่ชำระเงินคืนในกำหนดเวลา 2 ปี จึงถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด จำต้องเสียดอกเบี้ย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้พิจารณาเหตุตามสัญญาก่อสร้างสถานีวิทยุเอกสารหมาย จ.1 แล้ว ปรากฏตามสัญญาข้อ 2 ว่าจำเลยจะต้องผ่อนชำระเงินคืนโจทก์ภายในกำหนด 2 ปีโดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยใด ๆ แต่ตามสัญญามิได้ระบุว่า ถ้าหากไม่มีการผ่อนชำระเงินคืนตามกำหนดแล้ว ตามสัญญาจะให้คิดดอกเบี้ยต่อกันตามพฤติการณ์ระหว่างโจทก์จำเลยจะเห็นได้ว่าโจทก์มุ่งประโยชน์ตอบแทนจากรายได้จากการออกอากาศโฆษณาสินค้ามากกว่าที่จะคิดดอกเบี้ยต่อกันเมื่อจำเลยไม่ผ่อนชำระเงินคืนตามกำหนด โจทก์ก็มิได้จัดการประการใดโจทก์เพิ่งจะบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินลงทุนคืนเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2513ตามเอกสารหมาย จ.5 ทั้งตามหนังสือดังกล่าวโจทก์ก็มิได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยชำระเงินลงทุนเมื่อใด โจทก์เพียงแต่ได้เชิญจำเลยไปทำความตกลงกันในวันที่ 26 ธันวาคม 2513 เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยยังมิได้ตกเป็นฝ่ายผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงตกไป
ประการที่ 2 โจทก์จำเลยฎีกาเรื่องค่าเสียหาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายในช่วงเวลา 19 เดือนที่โจทก์ยอมออกอากาศที่สถานีวิทยุอื่นเป็นการยอมรับชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ หนี้การออกอากาศช่วงนี้จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องได้ ส่วนค่าเสียหาย 29 เดือน หลังจากนั้นศาลฎีกาคิดให้เดือนละ 10,000 บาทตามศาลอุทธรณ์ ฎีกาเรื่องค่าเสียหายจึงตกไป
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นบังคับคดีเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์