แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 26 ไร่ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง โดยตั้งราคาที่ดินเป็นเงิน 300,000 บาท ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คู่ความทำแผนที่พิพาท ปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 19 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมีที่ตั้งตามรูปแผนที่ครอบในระวางแผนที่ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเฉพาะส่วนที่โจทก์นำชี้ตามเส้นสีแดงเนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา ซึ่งคิดเป็นจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำแผนที่พิพาทเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย ซึ่งศาลสามารถสั่งได้เองโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ แม้คู่ความจะมิได้ระบุพยานเพิ่มเติมศาลก็รับฟังพยานหลักฐานที่มีการสืบเพิ่มเติมนั้นได้ตามมาตรา 87 (2) ส่วนพยานหลักฐานนั้นจะมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดเป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน มิใช่เรื่องนอกประเด็นนอกคำฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 26 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเดือนตุลาคม 2538 จำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายเสรี สุชาตะประคัลภ์ ซึ่งมีจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเสรีเป็นผู้ครอบครอง โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของแต่เป็นการครอบครองแทนนายเสรี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายเสรี สุชาตะประคัลภ์ ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก เดิมที่ดินพิพาทแบ่งเป็น 4 แปลง และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นของกองมรดกของนายเสรี นอกจากนี้ที่ดินเนื้อที่ 4 ไร่ ทางทิศใต้ของที่ดินแปลงที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาทเป็นกองมรดกของนายเสรีเช่นกัน นายเสรีซื้อที่ดินแปลงนี้มาจากนายโสม บุสภาค แล้วให้ผู้อื่นเช่าตลอดมาจนนายเสรีถึงแก่ความตายเมื่อปี 2528 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ครอบครองที่ดินต่อมา โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายเสรี ก่อนยื่นคำร้อง ผู้ร้องสอดได้บอกกล่าวให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท แต่โจทก์เพิกเฉย ทำให้ผู้ร้องสอดได้รับความเสียหาย หากให้ผู้อื่นเช่าที่ดินพิพาทจะได้ค่าเช่าเดือนละ 11,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและขับไล่โจทก์พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท กับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายเดือนละ 11,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) และรับฟ้องแย้งเฉพาะที่ดินเนื้อที่ 4 ไร่
โจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดและฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คู่ความดำเนินการทำแผนที่พิพาท โดยเจ้าพนักงานที่ดิน ตามแผนที่ที่เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งมีที่ตั้งตามรูปแผนที่ครอบในระวางแผนที่ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545 เฉพาะส่วนที่โจทก์นำชี้ตามเส้นสีแดง แต่ไม่รวมถึงที่ดินเลขที่ 22 หน้าสำรวจ 1644 กับให้จำเลยและผู้ร้องสอดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกคำร้องสอด
จำเลยและผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคำร้องสอดในชั้นศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยและผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เดิมโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 26 ไร่ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง โดยตั้งราคาที่ดินเป็นเงิน 300,000 บาท ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คู่ความทำแผนที่พิพาทปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 19 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมีที่ตั้งตามรูปแผนที่ครอบในระวางแผนที่ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545 เฉพาะส่วนที่โจทก์นำชี้ตามเส้นสีแดงแต่ไม่รวมถึงที่ดินเลขที่ 22 หน้าสำรวจ 1644 เมื่อพิจารณาประกอบแผนที่เอกสารหมาย ล.27 หนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.31 และสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย ล.32 แล้วที่ดินพิพาทกันในชั้นฎีกาคงมีเนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา คิดเป็นจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยและผู้ร้องสอดฎีกาว่า พยานหลักฐานของจำเลยและผู้ร้องสอดรับฟังได้ว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องสอดนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยและผู้ร้องสอดข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาในข้อกฎหมายของจำเลยและผู้ร้องสอดข้อแรกว่า การที่ศาลทั้งสองรับฟังแผนที่พิพาทฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2545 เป็นพยานหลักฐานในคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยและผู้ร้องสอดฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุแผนที่ดังกล่าวไว้เป็นพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 แผนที่พิพาทแตกต่างกับแผนที่พิพาทโดยสังเขปเอกสารหมาย จ.1 ไม่ตรงกับคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องจึงเป็นเรื่องนอกประเด็น นอกคำฟ้อง ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคท้าย และมาตรา 87 (2) มาปรับใช้ในคดีโดยให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำแผนที่พิพาทนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคท้าย ซึ่งบทมาตราดังกล่าวนี้ศาลสามารถสั่งได้เองโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ แม้คู่ความจะมิได้ระบุพยานเพิ่มเติมศาลก็สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่มีการสืบเพิ่มเติมนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) ส่วนพยานหลักฐานนั้นจะมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดเป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน หาใช่เรื่องนอกประเด็นนอกคำฟ้องไม่ สำหรับแผนที่พิพาทฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2545 นั้น แม้จำเลยและผู้ร้องสอดจะมิได้ลงชื่อรับรอง แต่จำเลยและผู้ร้องสอดก็มิได้โต้แย้งว่าแผนที่ดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงกับระวางโฉนดที่ดินแต่อย่างไร ศาลชั้นต้นจึงรับฟังแผนที่พิพาทซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินทำขึ้นดังกล่าวมาประกอบพยานหลักฐานอื่นได้
ที่จำเลยและผู้ร้องสอดฎีกาข้อต่อไปโดยอ้างว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนเนื้อที่ 4 ไร่ โดยอาศัยสิทธิของนางโกสุม สุชาตะประคัลภ์ ภรรยาของนายเสรี สุชาตะประคัลภ์ ที่ดินพิพาทส่วนนี้จึงเป็นสินสมรสระหว่างนายเสรีกับนางโกสุม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า เป็นเรื่องนอกคำร้องสอดไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยให้การและผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือผู้ร้องสอด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องนอกคำร้องสอดนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยและผู้ร้องสอดทั้งสองข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้จำเลยและผู้ร้องสอดฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยยกฟ้องโจทก์และบังคับตามฟ้องแย้งของผู้ร้องสอด ซึ่งที่ดินพิพาทกันในชั้นฎีกามีเนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา คิดเป็นจำนวนทุนทรัพย์ 137,600 บาท จำเลยและผู้ร้องสอดต้องเสียค่าขึ้นศาลฎีกาในส่วนของฟ้องโจทก์เป็นเงินคนละ 3,440 บาท และผู้ร้องสอดต้องเสียค่าขึ้นศาลฎีกาในส่วนของฟ้องแย้งเป็นเงิน 1,250 บาท แต่จำเลยและผู้ร้องสอดเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาคนละ 7,500 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยเป็นเงิน 4,060 บาท และผู้ร้องสอดเป็นเงิน 2,810 บาท”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยเป็นเงิน 4,060 บาท และผู้ร้องสอดเป็นเงิน 2,810 บาท