คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1541/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่เป็นข้ออ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำการใดอันจะถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง หรือมีอายุความเกินกว่า 1 ปี ที่โจทก์ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้มีอายุความ 10 ปี จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ โดยได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องอายุความในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า ความเสียหายที่เกิดแก่บ้านของโจทก์เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2539 เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตอกเสาเข็มจึงเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิดซึ่งมีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์โจทก์มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนดังกล่าว ทั้งเมื่อจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โจทก์ก็ไม่ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ การที่โจทก์ยกประเด็นเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงขึ้นฎีกาจึงเป็นการฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิด ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ทิ้งฟ้อง โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกจำเลยในสำนวนคดีหลังว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนคดีแรกว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3194 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1042/84 เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้านในที่ดินซึ่งอยู่ติดกับบ้านของโจทก์ จำเลยที่ 2 ดำเนินการตอกเสาเข็มเสร็จวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 การตอกเสาเข็มดังกล่าวทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ทรุดได้รับความเสียหายร้าวทั้งหลัง โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ระงับการตอกเสาเข็มเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2539 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย 381,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้านในที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 2 ว่าจ้างผู้รับเหมาช่วงให้ดำเนินการตอกเสาเข็ม โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้เลือกหาหรือมีส่วนในการงานที่สั่งให้ทำ และผู้รับเหมาช่วงตอกเสาเข็มเสร็จเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้าน จำเลยที่ 2 จึงว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ดำเนินการตอกเสาเข็ม บริษัทดังกล่าวตอกเสาเข็มเสร็จเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 โดยไม่ได้เกิดความเสียหายแก่บ้านของโจทก์แต่อย่างใด หากเกิดความเสียหายจำเลยที่ 2 ก็หาต้องรับผิดชอบไม่ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 50,000 บาท และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 125,567 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้านในที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับบ้านของโจทก์ จำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างโดยว่าจ้างช่วงให้นายประกอบ ตั้งสัจจพงศ์ ตอกเสาเข็ม 8 ต้น ในที่ดินดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า หลังจากบ้านของโจทก์แตกร้าวเสียหายแล้ว จำเลยที่ 1 ตกลงจะซ่อมบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิม ใช้การได้และได้นำช่างไปซ่อมให้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ซ่อมบ้านตามที่ได้รับสภาพหนี้กันไว้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาจากจากจำเลยที่ 1 จึงมีอายุความ 10 ปี เห็นว่า ตามคำฟ้องที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เข้ามาใหม่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2540 โจทก์บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จำเลย (จำเลยที่ 1) ว่าจ้างช่างผู้รับเหมา (จำเลยที่ 2) ให้ดำเนินการ เจาะอัด ดึง ตอกเสาเข็ม และทำเสาเข็ม เพื่อก่อสร้างบ้านซึ่งอยู่ติดกับบ้านของโจทก์ การตอกเสาเข็มของผู้รับเหมาทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างแรงเป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ร้าวและทรุด การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในมูลละเมิด ซึ่งสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดนั้นมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 คำฟ้องมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่เป็นข้ออ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำการใดอันจะถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง หรือมีอายุความเกินกว่า 1 ปี แต่อย่างใด ที่โจทก์ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้มีอายุความ 10 ปี จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ และโจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้อีกต่อไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการต่อไปว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาในทำนองว่า เหตุในคดีนี้เกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เห็นว่า ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดโดยอ้างว่าเหตุละเมิดเกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธอ้างว่าเหตุละเมิดเกิดเมื่อเดือนมีนาคม 2539 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง โจทก์นำสืบโดยมีเพียงตัวโจทก์อ้างตนเองเบิกความว่าจำเลยที่ 2 ทำการตอกเสาเข็มเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2539 ใช้เวลาวันเดียวก็ตอกเสร็จ การตอกเสาเข็มดังกล่าวทำให้บ้านของโจทก์เสียหายและโจทก์ทราบเหตุในวันเดียวกัน คำเบิกความของโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดมาสนับสนุนทั้งที่โจทก์เองก็นำสืบอ้างว่า ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างบ้านของจำเลยที่ 1 ต่อผู้อำนายการกองช่างของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และหลักฐานดังกล่าวยังอยู่ที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช แต่กลับไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำหนังสือคัดค้านการก่อสร้างซึ่งน่าเชื่อว่าโจทก์ทำขึ้นใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุมาแสดงต่อศาลเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตน ส่วนจำเลยที่ 2 นอกจากจะอ้างตนเองเบิกความยืนยันว่า นายประกอบซึ่งรับจ้างจำเลยที่ 2 ตอกเสาเข็มได้ดำเนินการตอกเสาเข็มในวันที่ 6 มีนาคม 2539 ใช้เวลาตอก 2 วัน จึงแล้วเสร็จ จำเลยที่ 2 ยังมีนายประกอบมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 2 ว่าจ้างนายประกอบตอกเสาเข็มเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2539 ซึ่งข้อเท็จจริงที่นายประกอบเบิกความดังกล่าวโจทก์ก็ไม่ได้ถามค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังมีหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย ล.10 และบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.11 มาแสดง ซึ่งตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย ล.10 ระบุว่า ทำขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม 2539 มีข้อสัญญาเรื่องการจ่ายสินจ้างระบุไว้ในข้อ 2 ความว่า ผู้ว่าจ้างจะจ่ายสินจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง 3 งวด งวดที่ 1 จ่าย 200,000 บาท เมื่อผู้รับจ้างตีผังบริเวณก่อสร้างตอกเสาเข็ม ขุดดินผูกเหล็กและเทคอนกรีตฐานรากแล้วเสร็จ ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวสอดคล้องกับข้ออ้างเรื่องวันเวลาที่มีการตอกเสาเข็มของจำเลยที่ 2 และยังสอดคล้องกับรายการโอนเงินตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.11 แม้จำเลยที่ 2 จะนำสืบในเรื่องวันเวลาที่มีการตอกเสาเข็มแตกต่างกับที่ให้การไว้ไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้เป็นพิรุธ พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำมาสืบมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า นายประกอบซึ่งรับจ้างจำเลยที่ 2 ตอกเสาเข็มได้ดำเนินการตอกเสาเข็มในวันที่ 6 มีนาคม 2539 และแล้วเสร็จหลังจากนั้น 2 วัน การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 ซึ่งเกินกว่ากำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ฎีกาในทำนองว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 ตกลงที่จะซ่อมแซมบ้านให้โจทก์ และจำเลยที่ 2 ได้ซ่อมไปแล้วบางส่วน ถือได้ว่าเป็นการยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ อายุความจึงสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ โดยได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องอายุความในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า ความเสียหายที่เกิดแก่บ้านของโจทก์เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2539 เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตอกเสาเข็มจึงเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิดซึ่งมีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนดังกล่าว ทั้งเมื่อจำเลยที่ 2 อุทธรณ์โจทก์ก็ไม่ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์แต่อย่างใด การที่โจทก์ยกประเด็นเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงขึ้นฎีกาจึงเป็นการฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share