แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎหมายเก่ากับใหม่ขัดกันสิทธิเรียกร้องเอาเงินที่ผ่อนส่งเงินกู้เป็นงวด ๆ นั้นมีกำหนดอายุความ 5 ปี ผิดนัดผ่อนใช้เงินเป็นงวด ๆ ตามสัญญาซึ่งทำไว้ก่อนใช้ประมวลแพ่ง ฯ นั้นสำหรับงวดในระวางเวลาที่ใช้ประมวลแพ่ง ฯ แล้ว ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้เพียง 5 ปีคือนับแต่วันที่ฟ้องย้อนขึ้นไป 5 ปี
ผัวเมีย,มฤดก วิธีพิจารณาแพ่ง อำนาจฟ้อง หน้าที่นำสืบ หลักวินิจฉัย ภรรยาซึ่งเป็นผู้รับมฤดกจากสามีผู้วายชนม์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลย ๆ รับว่าเป็นภรรยจริงแต่ต่อสู้ว่าเป็นผู้ไม่ควรได้รับมฤดกเป็นนาที่จำเลยต้องนำสืบว่าไม่ควรรับมฤดกเพราะเหตุไรมิฉะนั้นต้องฟังว่าโจทก์เป็นผู้ควรรับมฤดกแลมีอำนาจฟ้องคดีได้
ย่อยาว
คดีนี้เดิมจำเลยเป็นหนี้สามีโจทก์ซึ่งได้คิดบัญชีเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ จำเลยยังคงเป็นหนี้สามีโจทก์อยู่ ๒๑๐๐ บาท จำเลยได้ทำสัญญาผ่อนส่งเงินเป็นรายปี ๆ ละ ๑๐๐ บาท จำเลยได้ชำระมาแล้ว ๘ งวดเป็นเงิน ๘๐๐ บาท ต่อมาก็มิได้ชำระอีก เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ สามีโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมฤดกจึงฟ้องเรียกเงินที่ค้างฉะเพาะ ๑๐ งวดหลังนี้ คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ ถึงพ.ศ.๒๔๗๖ เป็นเงิน ๑๐๐๐ บาทกับดอกเบี้ย
ศาลเดิมเห็นว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่พ.ศ.๒๔๖๓ โจทก์ไม่ใช่สิทธิเรียกร้องภายใน ๑๐ ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ แต่โจทก์มีสิทธิเรียกได้เพียง ๕ ปี ตามประมวลแพ่ง ฯ ม.๑๖๖ จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงินโจทก์ ๕ ปีเป็นเงิน ๕๐๐ บาทกับดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าจำเลยให้การรับว่าโจทก์เป็นภรรยาของ ฮ.จำเลยต่อสู้ว่าแต่เพียงว่าโจทก์เป็นผู้ไม่ควรรับมฤดกจึงเป็นหน้าที่จำเลยต้องนำสืบว่าโจทก์ไม่ควรรับมฤดกเพราะเหตุไร แต่จำเลยไม่นำสืบจึงต้องฟังว่าโจทก์ผู้เป็นภรรยา ฮ.อยู่ในฐานะเป็นผู้ควรได้มฤดก ฮ.ตามกฎหมายแลมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ส่วนเรื่องอายุความนั้นเห็นว่าสัญญาผ่อนใช้เงินเป็นรายปี สิทธิเรียกร้องยอมเกิดเป็นรายปีตามระยะเวลาที่ผิดสัญญานั้น ทั้งสัญญาก็ไม่ปรากฎว่าผิดสัญญาแต่งวดเดียวให้ฟ้องเรียกเงินงวดหลัง ๆ ได้ทั้งหมด อายุความจึงเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป สำหรับงวดในระวางเวลาที่ใช้ประมวลแพ่ง ฯ แล้วตาม ม.๑๖๖ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้เพียง ๕ ปีเท่านั้น คือสำหรับงวดที่ค้างในระวางเวลานับแต่วันที่โจทก์ฟ้องย้อนขึ้นไป ๕ ปีจึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์