คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1272/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธานการบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์จำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม การไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมซึ่งถือเป็นหนี้ประธานจึงเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่โจทก์นำมาฟ้องเจ้าหนี้จึงคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดระยอง คดีหมายเลขแดงที่ 105/2542 เป็นเงิน 2,180,920.22 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองตามมาตรา 96 (3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมจำนวน 1,010,861.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 970,448.40 บาท นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2540 (วันถัดจากวันฟ้อง) ถึงวันที่ 23 มกราคม 2547 (วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมจำนวน 2,632.50 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96 (3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 5069 ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง พร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่ 1 ก่อนภายในวงเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2542 (วันที่ศาลมีคำพิพากษาตามยอม) ถึงวันที่ 23 มกราคม 2547 (วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) ส่วนที่เกินวงเงินจำนองและหรือขาดอยู่เป็นจำนวนเท่าใดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองโดยส่วนเฉลี่ยตามมาตรา 130 (7) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ทั้งนี้โดยให้ได้รับชำระหนี้ทั้งสิ้นไม่เกินจำนวน 2,180,920.22 บาท ตามที่เจ้าหนี้ขอมา
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2542 ศาลจังหวัดระยองได้มีคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 105/2542 ซึ่งพิพากษาว่า ลูกหนี้ทั้งสองตกลงชำระหนี้จำนวน 1,010,861.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 970,448.40 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยชำระให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นรายเดือน เริ่มชำระงวดแรกเดือนมกราคม 2542 ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 ถึงเดือนมิถุนายน 2542 ผ่อนชำระเดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ภายในเดือนกรกฎาคม 2542 ผ่อนชำระให้อีก 100,000 บาท เดือนสิงหาคม 2542 ถึงเดือนธันวาคม 2542 ผ่อนชำระเดือนละไม่ต่ำกว่า 17,000 บาท และตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 ผ่อนชำระเดือนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2544 หากลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่างวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมดยินยอมให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) บังคับคดีโดยยึดทรัพย์จำนอง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5069 ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้จนครบถ้วน ต่อมาธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาโอนสินทรัพย์ให้กับเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงได้รับโอนทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ อันธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) มีต่อลูกหนี้ทั้งสองและเจ้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมปรากฏว่าลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้แต่อย่างใด อยู่ระหว่างเจ้าหนี้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำนองเพื่อนำออกขายทอดตลาด ต่อมาศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาด เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า ที่ศาลล้มละลายกลางให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เพียงภายในวงเงินจำนอง 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาตามยอมถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นไม่ถูกต้อง มีผลทำให้สิทธิในการบังคับทรัพย์จำนองของเจ้าหนี้ลดลงเพราะหนี้จำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธาน เมื่อหนี้ประธานผิดนัดชำระหนี้ลูกหนี้ผู้จำนองต้องรับผิดในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ตกลงกันไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น เห็นว่า ในชั้นของรับชำระหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนและทำความเห็นในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 โดยเจ้าหนี้มีหน้าที่ที่จะต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อทำการสอบสวนให้เห็นถึงการมีหนี้สินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ในชั้นสอบสวนคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2547 เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายพิสิทธ์ ธาราพัฒน์ เป็นพยานและขอผัดส่งเอกสารประกอบคำขอรับชำระหนี้บางรายการไปในวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 ครั้งถึงวันนัดเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอผัดส่งเอกสารประกอบคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวอีกหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 1 กันยายน 2547 เจ้าหนี้ยื่นคำแถลงขอส่งเอกสารประกอบคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมและแถลงหมดพยาน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงทำความเห็นเสนอศาลจากพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวน ซึ่งเมื่อศาลตรวจดูสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสำเนาสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันที่เจ้าหนี้อ้างส่งท้ายคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมายเป็นเอกสารหมาย จ.10 นั้น ก็ปรากฏว่าตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระบุว่าอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง แต่เมื่อพิจารณาสำเนาสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันปรากฏว่าหน้าที่ 2 และที่ 3 ขาดหายไปอ่านไม่ได้ความครบถ้วน ส่วนในหน้าที่ 1 และที่ 4 ก็ไม่ปรากฏอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองแต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้โอกาสเจ้าหนี้ในการส่งเอกสารประกอบคำขอรับชำระหนี้หลายครั้ง แต่เจ้าหนี้กลับละเลยไม่ตรวจสอบว่ามีการนำส่งหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ ในสำนวนคงมีเพียงสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสำเนาสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันที่ไม่มีเจ้าพนักงานรับรองความถูกต้อง ทั้งสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันหน้าที่ 2 และที่ 3 ขาดหายไป เมื่อไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานใดในสำนวนว่าเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองได้ในอัตราใด การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงชอบแล้ว แม้เจ้าหนี้จะนำส่งสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสำเนาสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันดังกล่าวที่มีข้อความครบถ้วนมาท้ายอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ก็ไม่อาจนำมาพิจารณาได้เพราะล่วงเลยเวลาแล้ว ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อไปว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับหนี้จำนองตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นหนี้ประธานเป็นต้นไปจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น เห็นว่า หนี้จำนองโดยสภาพเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธานเสียก่อนการบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์จำนองจึงจะกระทำได้ ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้วต่อมาลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ การไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมซึ่งถือเป็นหนี้ประธานจึงเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี เจ้าหนี้จึงคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีหาได้ไม่ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองภายในวงเงินจำนอง 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาตามยอมและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share