แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาร่วมลงทุนและแบ่งผลประโยชน์กำหนดหน้าที่ของโจทก์ว่า โจทก์รับจะดูแลจัดการเกี่ยวกับการเงินบัญชี การขาย การติดต่อลูกค้า และกิจการอื่น ๆ ที่กี่ยวกับงานของโครงการจัดสรรที่ดินที่ดำเนินการอยู่ ส่วนหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดไว้ว่า รับจะดูแลในการพัฒนาที่ดิน การขอรังวัด แบ่งแยก ออกโฉนดใหม่ ตลอดจนถึงงานด้านสาธารณูปโภค ด้านการขายและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานของโครงการ ตั้งแต่ลงทุนเป็นหุ้นส่วนกันมายังไม่ได้มีการสะสางบัญชีกันเลยว่าจะมีรายรับและรายจ่ายเพียงใด ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองก็ไม่ปรองดองกัน เหลือวิสัยที่ห้างหุ้นส่วนจะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (3) หากปล่อยให้ห้างหุ้นส่วนดำรงคงอยู่ต่อไป ผู้เป็นหุ้นส่วนต่างก็มุ่งจะขายที่ดินส่วนที่เหลือและรับเงินจากลูกค้าของตนโดยไม่นำพาต่อหุ้นส่วนอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งจะเป็นผลเสียต่อหุ้นส่วนอีกฝ่ายหนึ่งและต่อลูกค้าอันจะเป็นมูลเหตุให้เกิดคดีฟ้องร้องกันต่อไปอีก จึงมีเหตุที่ศาลจะสั่งให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2538 โจทก์และจำเลยตกลงกันตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อทำการค้าที่ดิน โดยระหว่างปี 2538 ถึง 2539 โจทก์และจำเลยได้ลงหุ้นเป็นเงินคนละเท่ากันและนำไปซื้อที่ดินมาจัดสรรขาย ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2540 โจทก์และจำเลยจึงได้ทำสัญญาร่วมทุนและแบ่งผลประโยชน์กัน วิธีการจัดสรรที่ดินเมื่อห้างชำระราคาที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดินแล้ว ก็จะรับโฉนดที่ดินมาแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยโดยออกโฉนดในนามลูกค้าที่สั่งจองที่ดิน แต่ทางห้างจะยึดถือโฉนดไว้ก่อนจนกว่าลูกค้าจะได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วจึงส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่ลูกค้า การขอรับโฉนดที่ดินจากสำนักงานที่ดินมามอบให้ลูกค้าเป็นหน้าที่ของจำเลย เมื่อต้นปี 2541 โจทก์และจำเลยตกลงกันกู้ยืมเงินจากนางวีณา ภัทรประสิทธิ์ จำนวน 2,000,000 บาท มาใช้จ่ายในกิจการของห้าง แต่เมื่อถึงกำหนดชำระเงินจำเลยกลับไม่ยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่ผู้ให้กู้ นอกจานี้จำเลยยังไม่ยอมมอบโฉนดที่ดินให้แก่นายคมสัน ภูริเวโรจน์ ผู้ซื้อ ตามหน้าที่ของจำเลย ทั้งจำเลยได้รับเงินจากลูกค้าที่ผ่อนชำระหลายราย แต่ไม่นำเงินเข้าบัญชีของห้าง โจทก์ได้ติดต่อกับจำเลยเพื่อปรึกษาหารือแก้ปัญหาของห้างหลายครั้ง แต่จำเลยไม่ยอมให้พบ อันถือว่าจำเลยไม่ปรองดองกับโจทก์ และจำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญาหุ้นส่วนโดยจงใจ เป็นเหตุให้ห้างเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ขอให้มีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนซึ่งโจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนกัน ให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วน เพื่อทำการสะสางหนี้สินแบ่งทรัพย์สินคือหุ้นและแบ่งกำไร
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาหุ้นส่วนอย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันยังปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของโครงการตามสัญญาอยู่ แต่โจทก์ไม่จัดทำบัญชีตามระบบบัญชีทั่วไป ไม่ส่งบัญชีให้จำเลยทราบ ไม่นำเงินรายได้เข้าบัญชีของห้าง กู้ยืมเงินโดยไม่แจ้งและไม่แสดงหลักฐานให้จำเลยทราบ จำเลยได้จัดให้มีการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หลายรายเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยได้เป็นจำนวนมาก แต่โจทก์กลับกู้ยืมเงินเพิ่มและต้องชำระดอกเบี้ยตลอดทั้งที่มีรายได้เพียงพอ จำเลยไม่ได้ตกลงกับโจทก์ในการกู้ยืมเงินจากนางวีณา ภัทรประสิทธิ์ แต่โจทก์ได้ฉ้อฉลให้จำเลยลงลายมือชื่อในเช็คเพื่อค้ำประกันและนำไปใช้โดยไม่สุจริต จำเลยไม่ได้กลั่นแกล้งไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่ลูกค้า เหตุที่จำเลยมิได้ส่งมอบโฉนดที่ดินเนื่องจากลูกค้าดังกล่าวไม่ได้ชำระเงินค่าที่ดินให้ครบถ้วน จำเลยไม่ได้จงใจล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญาหุ้นส่วน ปัจจุบันโครงการของห้างยังคงดำเนินการอยู่ โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการในด้านการพัฒนา ดูแล และจัดการเรื่องสาธารณูปโภคซึ่งเป็นการจำเป็นจนกว่าจะปิดโครงการ หากเลิกห้างโดยโครงการยังไม่เสร็จ จะเกิดความเสียหายต่อลูกค้าจำนวนมาก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกัน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อปี 2534 โจทก์และจำเลยตกลงตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อซื้อที่ดินมาแบ่งเป็นแปลงย่อยจัดสรรขาย ต่อมาทั้งสองได้ลงหุ้นเป็นเงินคนละเท่า ๆ กันไปวางมัดจำและซื้อที่ดินแปลงใหญ่ที่อำเภอพรหมบุรี อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก รวม 4 แปลง ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 เพื่อมาจัดสรรขาย และได้ทำสัญญาร่วมทุนและแบ่งผลประโยชน์เอกสารหมาย จ.5 ไว้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2540 ปัจจุบันมีลูกค้าซื้อที่ดินแปลงย่อยไปหลายแปลงและได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปแล้วบางส่วน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า กรณีมีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ โจทก์อ้างเหตุที่ต้องเลิกห้างหุ้นส่วนว่า โจทก์และจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินจากนางวีณา ภัทรประสิทธิ์ จำนวน 2,000,000 บาท มาใช้ในกิจการห้างโดยโจทก์นำสืบว่า โจทก์และจำเลยได้ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าตามเอกสารหมาย จ.7 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นางวีณา จำนวน 2,000,000 บาท และสามีโจทก์ได้โอนเงินที่ได้รับดังกล่าวจำนวน 1,400,000 บาท เข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขานครนายก ตามสำเนาใบคำขอโอนเงินและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบปฏิเสธหรืออธิบายถึงหลักฐานดังกล่าวว่าจำเลยไม่ได้รับเงินหรือเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่เงินที่กู้ยืมมาจากนางวีณาแต่ประการใด เพียงแต่เบิกความตอบทนายจำเลยถามติงลอย ๆ ว่าเงินที่สามีโจทก์ส่งมาให้จำเลย 1,400,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากลูกค้าตามเอกสารหมาย จ.32 ซึ่งเมื่อพิเคราะห์เอกสารดังกล่าวแล้วได้ความว่าเงินที่โจทก์ได้รับเป็นจำนวน 1,587,000 บาท มิใช่ 1,400,000 บาท ตามที่จำเลยได้รับ ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ต่อมาจำเลยได้ปฏิเสธหนี้ดังกล่าวต่อนางวีณา ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.10 และแจ้งอายัดเช็คดังกล่าว เป็นเหตุให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามสำเนาใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.7 นางวีณาจึงฟ้องโจทก์และจำเลยที่ศาลแขวงตลิ่งชัน ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.11 ส่วนข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยไม่ยอมมอบโฉนดที่ดินให้แก่นายคมสัน ภูริเวโรจน์ ผู้ซื้อ ก็ได้ความจากนายคมสันพยานโจทก์ว่า นายคมสันทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำตามเอกสารหมาย จ.21 กับโจทก์ และได้ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินและหลักฐานการรับเงินเอกสารหมาย จ.23 แต่นายคมสันก็ยังไม่ได้รับโฉนดที่ดินทั้งที่โฉนดที่ดินออกเป็นชื่อนายคมสันแล้ว ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.22 ในข้อนี้จำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่ได้ส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่นายคมสันเนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำเงินค่าที่ดินของนายคมสันเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วน แต่กลับนำไปเข้าบัญชีส่วนตัวของโจทก์ โดยโจทก์อ้างว่าต้องนำเงินดังกล่าวไปเป็นค่าใช้จ่าย อันแสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันในการดำเนินงานระหว่างโจทก์และจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังอ้างว่า จำเลยได้รับเงินจากลูกค้าที่ผ่อนชำระหลายราย แต่ไม่นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วน ในข้อนี้จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจากลูกค้าหลายรายแต่นำเงินไปเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วนเพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ดิน เห็นว่า ตามสัญญาร่วมลงทุนและแบ่งผลประโยชน์เอกสารหมาย จ.5 ได้กำหนดหน้าที่ของโจทก์ไว้ว่า โจทก์รับจะดูแลจัดการเกี่ยวกับการเงินบัญชี การขาย การติดต่อลูกค้าและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานของโครงการที่ดำเนินการอยู่ ส่วนหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดไว้ว่า รับจะดูแลในการพัฒนาที่ดิน การขอรังวัด แบ่งแยก ออกโฉนดใหม่ ตลอดจนถึงงานด้านสาธารณูปโภคด้านการขายและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานของโครงการ จึงเป็นที่เห็นได้ว่า ในด้านการขายที่ดินและรับเงินจากลูกค้า โจทก์และจำเลยต่างก็มีหน้าที่ดังกล่าวด้วยกัน ซึ่งในสัญญาข้อ 5 ได้กำหนดข้อตกลงไว้ว่า ในการจัดการเกี่ยวกับการเงินให้จัดทำบัญชี รายรับ รายจ่าย ไว้ตามระบบบัญชีทั่วไปเพื่อแสดงให้คู่สัญญาผู้ร่วมลงทุนได้ทราบและตรวจสอบได้ตลอดเวลา และจัดทำสำเนาบัญชีรับจ่ายให้คู่สัญญาทุกฝ่ายทราบทุกเดือนตลอดไป โดยคู่สัญญาได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันร่วมกันไว้ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขานครนายก ในนามของโจทก์และจำเลยโดยตกลงกันว่าเงินที่รับจากลูกค้า และเงินรายได้อื่นทั้งหมดให้จัดการนำฝากเข้าบัญชีดังกล่าวทั้งหมดทุกครั้งที่ได้รับโดยทันที ซึ่งได้ความจากโจทก์และจำเลยว่า เพื่อความสะดวกของลูกค้าที่อยู่กรุงเทพมหานคร ต่อมาโจทก์และจำเลยจึงร่วมกันเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตลิ่งชัน อีกบัญชีหนึ่ง เพื่อให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชี แต่กลับได้ความว่าโจทก์และจำเลยต่างไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมุทนและแบ่งผลประโยชน์ดังกล่าว โดยต่างไม่นำเงินที่รับจากลูกค้าและเงินรายได้อื่นทั้งหมดฝากเข้าบัญชีห้างหุ้นส่วนทุกครั้งที่ได้รับโดยทันที ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเงินที่ไม่ได้นำฝากเข้าบัญชีห้างหุ้นส่วนเนื่องจากได้นำไปเป็นค่าใช้จ่ายของห้าง นอกจากนี้ฝ่ายที่รับเงินค่าที่ดินจากลูกค้าก็ไม่ได้จัดทำบัญชี รายรับ รายจ่าย ไว้ตามระบบบัญชีทั่วไป เพื่อแสดงให้คู่สัญญาผู้ร่วมทุนได้ทราบและตรวจสอบได้ตลอดเวลา และมิได้จัดทำสำเนาบัญชีรับจ่ายให้คู่สัญญาทุกฝ่ายทราบทุกเดือนตลอดไปตามที่ตกลงไว้ในสัญญา ทำให้โจทก์และจำเลยต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันในการดำเนินงานเป็นต้นเหตุให้ถูกบุคคลภายนอกดำเนินคดีฟ้องร้อง นางวาสนา เขียวสด เลขานุการส่วนตัวของจำเลยเป็นพยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในปัจจุบันโครงการไม่มีเงินสดในมือที่จะนำมาใช้พัฒนาที่ดิน โจทก์และจำเลยไม่ได้ประชุมปรึกษาเพื่อจะปรองดองกัน จำเลยเองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ตั้งแต่ลงทุนเป็นหุ้นส่วนกันมายังไม่ได้มีการสะสางบัญชีกันเลยว่าจะมีรายรับและรายจ่ายเพียงใด จำเลยเคยได้รับหนังสือจากทนายความโจทก์ให้จำเลยไปพบ แต่จำเลยมีหนังสือตอบไปว่าให้โจทก์ไปพบจำเลยที่จังหวัดนครนายก ตามพฤติการณ์ถือได้ว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองไม่ปรองดองกัน เหลือวิสัยที่ห้างหุ้นส่วนจะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057 (3) หากปล่อยให้ห้างหุ้นส่วนดำรงคงอยู่ต่อไป ผู้เป็นหุ้นส่วนต่างก็มุ่งจะขายที่ดินส่วนที่เหลือและรับเงินจากลูกค้าของตนโดยไม่นำพาต่อหุ้นส่วนอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งจะเป็นผลเสียต่อหุ้นส่วนอีกฝ่ายหนึ่งและต่อลูกค้าอันจะเป็นมูลเหตุให้เกิดคดีฟ้องร้องกันต่อไปอีก กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะสั่งให้ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเลิกกัน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญ ซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057 (1) นั้น เห็นว่า เมื่อคดีฟังได้ว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองไม่ปรองดองกัน เหลือวิสัยที่ห้างหุ้นส่วนจะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057 (3) กรณีมิได้ต้องด้วยมาตรา 1057 (1) ฎีกาดังกล่าวของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ทั้งคดีไม่มีเหตุที่จะให้ศาลชั้นต้นนำคำตกเติมที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้ไขมาพิจารณาพิพากษาใหม่ตามฎีกาของจำเลย เพราะคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์.