คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15640/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่จำเลยรับไว้แทนโจทก์แล้วค้างชำระไม่ส่งมอบคืนภายในกำหนด อันเป็นกรณีตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีไม่มีเหตุจะนำพฤติการณ์ที่จำเลยรู้หรือไม่รู้เรื่องที่ ธ. ตัวแทนของจำเลยรับกรมธรรม์ประกันภัยไปจากโจทก์มาพิจารณาประกอบในการกำหนดจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,988,034.34 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,936,741.93 บาท นับแต่วันถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,925,828.13 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,462,914.06 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้จำเลยชดใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบริษัทรับประกันวินาศภัย จำเลยเป็นบริษัทตัวแทนนายหน้าขายประกันให้แก่โจทก์ มีหน้าที่ติดต่อลูกค้าผู้เอาประกันภัยเพื่อขายประกันให้แก่โจทก์และได้รับเงินค่าตอบแทนจากโจทก์ เมื่อลูกค้าตกลงเอาประกันภัยกับโจทก์แล้ว จำเลยโทรศัพท์แจ้งหรือส่งเอกสารการทำประกันภัยไปยังโจทก์ โจทก์จะออกกรมธรรม์ประกันภัยและใบเสร็จรับเงินมอบให้จำเลยเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่ลูกค้า เมื่อจำเลยส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยและรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าแล้วจะนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยนั้นมามอบให้แก่โจทก์ภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยไปจากโจทก์ นายธนกฤตหรือจิรพล เคยเป็นพนักงานของโจทก์ มีหน้าที่กำกับดูแลตัวแทนนายหน้าของโจทก์ในรายจำเลย ต่อมานายธนกฤตลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ มีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 หลังจากนั้นจำเลยตั้งนายธนกฤตเป็นตัวแทนของจำเลยเพื่อชี้ช่องให้ลูกค้าเข้าทำสัญญาประกันภัยวินาศภัยกับโจทก์ เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2548 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2549 นายธนกฤตตัวแทนของจำเลยชี้ช่องและจัดการให้ลูกค้าทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์โดยใช้รหัสของจำเลย ซึ่งรหัสของจำเลยนี้มีไว้เพื่อใช้อ้างอิงระหว่างโจทก์และจำเลยโดยเฉพาะในการติดต่อทำนิติกรรมระหว่างกัน เมื่อลูกค้าตกลงเอาประกันภัยกับโจทก์แล้ว นายธนกฤตแจ้งให้โจทก์ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ลูกค้า โจทก์จึงได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยและใบเสร็จรับเงินมอบให้นายธนกฤตเพื่อไปส่งมอบให้แก่ลูกค้าผู้เอาประกันภัย นายธนกฤตนำกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ออกให้ไปมอบให้แก่ลูกค้าและเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัย 2,936,741.93 บาท แล้วมิได้นำส่งเงินดังกล่าวแก่จำเลยเพื่อมอบแก่โจทก์ ต่อมานายธนกฤตทำหนังสือขอประนอมหนี้สินเบี้ยประกันภัยค้างชำระกับโจทก์ โดยยอมรับว่ามีเบี้ยประกันภัยค้างชำระ 3,025,577.46 บาท ขอผ่อนชำระ 10 งวด ตามหนังสือเรื่องเบี้ยประกันภัยค้างชำระ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาการเป็นตัวแทนนายหน้าจากการที่นายธนกฤตตัวแทนของจำเลยไม่ได้ส่งเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ลูกค้าของโจทก์ชำระให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า นายธนกฤตเป็นตัวแทนของจำเลยในการชี้ช่องและจัดการให้ลูกค้าทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ รหัสที่ใช้ในการติดต่อกับโจทก์ก็เป็นรหัสของจำเลย สัญญาประกันวินาศภัยระหว่างลูกค้ากับโจทก์ก็เกิดขึ้นและมีผลสมบูรณ์แล้วโดยโจทก์ได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยให้แก่ลูกค้าผ่านทางนายธนกฤตตัวแทนของจำเลยแล้ว ซึ่งหากมีวินาศภัยเกิดขึ้นโจทก์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยตามข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในสัญญาประกันวินาศภัย ในขณะเดียวกันเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่นายธนกฤตได้รับชำระไว้จากลูกค้าของโจทก์ก็เป็นการรับไว้ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยตามที่จำเลยแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของจำเลย ที่นางธนวัน ผู้จัดการฝ่ายรับประกันของจำเลยทำขึ้นถึงโจทก์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2549 ก็ระบุไว้ว่า “ตามที่มีเบี้ยประกันภัยรถยนต์ค้างชำระตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคมของปี 2548 ทางบริษัทพรูเด้นท์ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด ได้ตรวจสอบพบว่าเป็นงานของตัวแทน ซึ่งฝากผ่านโค๊ดของบริษัทฯ ทั้งหมด จึงได้ปรึกษาตัวแทนและแก้ปัญหา โดยทางตัวแทนขอผ่อนชำระค่าเบี้ยประกันภัยเป็น 7 งวด” แสดงว่าจำเลยยอมรับว่าเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่นายธนกฤตได้รับไว้จากลูกค้าเป็นเงินค่าเบี้ยประกันที่ค้างชำระต่อโจทก์และอยู่ในขอบเขตงานของจำเลย เพราะได้มีการใช้รหัสของจำเลยในการติดต่อ จำเลยเองและตัวแทนได้ปรึกษากันเพื่อแก้ปัญหากันแล้วจะให้ตัวแทนผ่อนชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปก่อน พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าการกระทำของนายธนกฤตินับแต่ติดต่อตกลงกับลูกค้าที่จะเอาประกันภัยกับโจทก์ ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ลูกค้า และรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าอยู่ในขอบเขตแห่งการเป็นตัวแทนให้แก่จำเลย เมื่อนายธนกฤตรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ลูกค้าชำระไว้เพื่อมอบต่อให้แก่โจทก์ แล้วไม่ชำระ ถือได้ว่าเป็นการที่ผู้ปฏิบัติงานแทนจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญาตัวแทนนายหน้าระหว่างโจทก์และจำเลย จำเลยในฐานะคู่สัญญาย่อมต้องรับผิดต่อการปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญาตัวแทนนายหน้าระหว่างโจทก์และจำเลยจากการที่นายธนกฤตตัวแทนของจำเลยไม่ได้ส่งเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ลูกค้าของโจทก์ชำระให้แก่โจทก์ การที่หนังสือแจ้งโจทก์ตามระบุว่าตัวแทนขอผ่อนชำระค่าเบี้ยประกันภัยเป็น 7 งวด นั้น ไม่ได้หมายความว่าหากตัวแทนของจำเลยไม่ผ่อนชำระให้ครบถ้วนแล้ว จำเลยในฐานะตัวการจะไม่ต้องรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยต้องรับผิดตามสัญญาตัวแทนนายหน้าระหว่างโจทก์และจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยรับรู้ถึงการกระทำของนายธนกฤตที่รับกรมธรรม์ประกันภัยไปจากโจทก์แล้วไปเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าหรือไม่ เห็นว่า หลังจากที่นายธนกฤตลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ได้ไม่นาน จำเลยก็แต่งตั้งให้นายธนกฤตที่รู้รหัสของจำเลยทำหน้าที่แทนจำเลยในการติดต่อขายประกันให้แก่ลูกค้าที่ประสงค์จะเอาประกันภัยกับโจทก์ เชื่อได้ว่าจำเลยย่อมรับรู้โดยตลอดว่านายธนกฤตสามารถใช้รหัสของจำเลยเพื่อแสดงต่อโจทก์ว่าการกระทำของนายธนกฤตเป็นการกระทำหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กรของจำเลยเอง กับตามชุดเอกสารซึ่งเป็นเอกสารการแจ้งการประกันที่มีการแจ้งการประกันในครั้งพิพาทรวมอยู่ด้วย รายละเอียดในเอกสารเน้นให้ความสำคัญกับการใช้แบบฟอร์มแจ้งการประกันวินาศภัยของจำเลยโดยมีชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร และอีเมล์ของจำเลยอยู่ด้านบน ส่วนผู้ลงนามแจ้งการทำประกันก็ขอให้มีเพียงลายมือชื่อผู้แจ้งที่ผู้รับแจ้งรู้จักและสามารถกรอกชื่อไว้ให้ตรงกันได้ในเอกสารการรับแจ้งก็พอ ซึ่งก็ปรากฏตามเอกสารแสดงการรับแจ้งที่เป็นแบบฟอร์มการรับแจ้งของโจทก์ว่าให้ความสำคัญของรหัสที่แจ้งมากกว่าตัวบุคคลที่แจ้ง โดยระบุรหัสไว้ในบรรทัดแรก นอกจากนี้ตามรายการบัญชีแสดงรายชื่อผู้เอาประกันภัยและรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเอาประกันภัย ก็ได้ระบุรายการที่ลูกค้าเอาประกันภัยผ่านนายธนกฤตว่านายธนกฤตเป็นตัวแทนให้แก่จำเลยตั้งแต่หลังลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ได้ไม่กี่วัน แล้วเริ่มเป็นตัวแทนให้จำเลยตั้งแต่ก่อนช่วงเวลาที่มีข้อพิพาทอยู่ 2 ถึง 3 เดือน โดยมีลูกค้าที่นายธนกฤตเป็นผู้ติดต่อตกลงตั้งแต่ก่อนเกิดข้อพิพาทอยู่แล้วหลายสิบราย พฤติการณ์การติดต่อระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลยต่างก็ยอมรับให้นายธนกฤตเป็นตัวแทนของจำเลยมาตั้งแต่ก่อนเกิดข้อพิพาทกันในคดีนี้ ดังนั้น เมื่อนายธนกฤตที่รู้จักและคุ้นเคยกับทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยเพราะเคยเป็นพนักงานของโจทก์มาก่อน เป็นผู้ติดต่อขายประกันให้แก่ลูกค้า การที่นายธนกฤตเป็นผู้รับกรมธรรม์ประกันภัยไปจากโจทก์และรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้า จึงเชื่อได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็ยอมให้นายธนกฤตรับกรมธรรม์ประกันภัยไปเก็บเงินจากลูกค้าได้โดยตรง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ทราบเรื่องดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่จำเลยรับไว้แทนโจทก์แล้วค้างชำระไม่ส่งมอบคืนภายในกำหนด อันเป็นกรณีตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีไม่มีเหตุจะนำพฤติการณ์ที่จำเลยรู้หรือไม่รู้เรื่องที่นายธนกฤตรับกรมธรรม์ประกันภัยไปจากโจทก์มาพิจารณาประกอบในการกำหนดจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดโดยกำหนดเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้เพียง 1 ใน 2 ส่วน ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 1 ใน 2 ส่วน จึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ชำระเต็มจำนวนฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share