แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโจทก์และนามแฝง “หนู มิเตอร์” ของโจทก์มาพิมพ์ลงในแผ่นวีซีดีคาราโอเกะและซีดีเพลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า การเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะไม่ได้ทำความเสียหายแก่โจทก์ โดยไม่ได้ปฏิเสธว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะ เท่ากับจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะแล้ว
แม้โจทก์จะเป็นนักร้องและนักดนตรีซึ่งร้องและเล่นดนตรีตามบทดนตรีกรรมอันถือเป็นนักแสดงตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะโดยใช้นามแฝงของโจทก์และนำภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีและวีซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์มิใช่การกระทำต่อการแสดงสดของโจทก์โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดงสดนั้น หรือบันทึกการแสดงของโจทก์และมิใช่การทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ หรือทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 53 อันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ผู้เป็นนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 44 จึงไม่ใช่การละเมิดสิทธิของโจทก์ผู้เป็นนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 52 ประกอบมาตรา 44 แต่การที่จำเลยทั้งสองกระทำการดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยประชาชนทั่วไปและแฟนเพลงของโจทก์เกิดความเข้าใจผิดว่ามีการออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะโดยใช้นามแฝงว่า “หนู มิเตอร์” และมีการถ่ายรูปในการออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองใช้นามแฝงของโจทก์โดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,434,895.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,250,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองหยุดการวางจำหน่ายซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะตามคำฟ้องนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อปี 2535 จำเลยที่ 2 เคยว่าจ้างโจทก์ให้ขับร้องเพลงเลียนเสียงศิลปินอื่น ๆ หลายเพลงและบันทึกลงมาสเตอร์เทปหรือสิ่งบันทึกเสียง โดยไม่มีการทำสัญญาเป็นหนังสือและไม่ปรากฏนามโจทก์บนเทปหรือสิ่งบันทึกเสียงดังกล่าว จำเลยที่ 2 นำเสียงเพลงที่บันทึกไปทำเทปคาสเซตให้บริษัทโรต้าแผ่นเสียงเทป (1991) จำกัด จัดจำหน่าย แต่เทปเพลงชุดดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาปี 2548 จำเลยที่ 2 มอบต้นฉบับหรือมาสเตอร์เทปบันทึกเสียงเพลงที่ว่าจ้างโจทก์ให้ขับร้องเลียนเสียงศิลปินอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้นให้จำเลยที่ 1 ทำการผลิตแผ่นซีดี (เพลง) และแผ่นวีซีดี (ภาพและเพลง) ออกจำหน่าย ใช้ชื่อว่า “ยอดมนุษย์ หนู มิเตอร์ มนุษย์ 7 เสียง”
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตจากโจทก์ในการนำนามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” และภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์บนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องมีข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโจทก์และนามแฝง “หนู มิเตอร์” ของโจทก์มาพิมพ์ลงในแผ่นวีซีดีคาราโอเกะและซีดีเพลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เป็นการละเมิดสิทธิของนักร้อง นักดนตรี และนักแสดง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและทำให้ประชาชนทั่วไปและแฟนเพลงของโจทก์เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าโจทก์ออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า การนำเอานามแฝง “หนู มิเตอร์” และภาพถ่ายโจทก์มาตีพิมพ์บนปกเทป (ที่ถูก เป็นปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะ) แล้วใช้ชื่อว่า “ยอดมนุษย์ หนู มิเตอร์ มนุษย์ 7 เสียง” ไม่ได้ทำความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด กลับเป็นการยกย่องให้เกียรติแก่โจทก์ว่าเป็นยอดมนุษย์มีแนวเสียง 7 เสียง และเพลงที่ปรากฏอยู่ในอัลบั้มก็เป็นเสียงร้องของโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิของโจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์ไม่ต้องการให้นำภาพถ่ายและนามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” ไปใช้พิมพ์ลงบนปกอัลบั้ม จำเลยที่ 1 ก็เก็บอัลบั้มดังกล่าวและไม่จำหน่ายอีกต่อไป จากคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธว่าโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองใช้นามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” และภาพถ่ายโจทก์ เท่ากับจำเลยทั้งสองรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองใช้นามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” และภาพถ่ายโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นละเมิดสิทธิของโจทก์และไม่ทำความเสียหายให้โจทก์ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิของนักร้อง นักดนตรี และนักแสดง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เท่านั้น คดีย่อมไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตจากโจทก์ในการนำนามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” และภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์บนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะหรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองใช้นามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” และภาพถ่ายโจทก์นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งกันเป็นประเด็นข้อพิพาท ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองใช้นามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” และภาพถ่ายโจทก์ได้ ข้อวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง และ 183 วรรคหนึ่ง จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธว่า จำเลยทั้งสองมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ในการนำนามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” และภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์บนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโจทก์และนามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” ไปพิมพ์ลงบนปกและแผ่นวีซีดีคาราโอเกะกับซีดีเพลงที่จำเลยทั้งสองผลิตออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นการละเมิดสิทธิใดของโจทก์และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นนักร้องและนักดนตรีซึ่งร้องและเล่นดนตรีตามบทดนตรีกรรมอันถือเป็นนักแสดงตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองนำนามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” และภาพถ่ายโจทก์ไปพิมพ์ลงบนปกและแผ่นวีซีดีคาราโอเกะกับซีดีเพลงที่จำเลยทั้งสองผลิตออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้นมิใช่การกระทำต่อการแสดงสดของโจทก์โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดงสดนั้นหรือบันทึกการแสดงสดของโจทก์ และมิใช่การทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์หรือทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เพื่อวัตถุประสงค์อื่นหรือทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 53 อันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ผู้เป็นนักแสดงตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 44 การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวแม้จะไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ก็มิใช่การละเมิดสิทธิของโจทก์ผู้เป็นนักแสดงตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 52 ประกอบมาตรา 44 อย่างไรก็ดี โจทก์อ้างในคำฟ้องด้วยว่าจำเลยทั้งสองกระทำการดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยประชาชนทั่วไปและแฟนเพลงของโจทก์เกิดความเข้าใจผิดว่ามีการออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะโดยใช้นามแฝงว่า “หนู มิเตอร์” และมีการถ่ายรูปในการออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจริง ซึ่งในข้อนี้โจทก์นำสืบว่า โจทก์ใช้นามแฝงในการแสดงว่า “หนู มิเตอร์” และใช้นามแฝงนี้กับภาพถ่ายโจทก์ในอัลบั้มชุดแรกของโจทก์ชื่อชุด “นิราศป่าปูน” ซึ่งออกจำหน่ายเมื่อปี 2539 การจะนำนามแฝงนี้และภาพถ่ายโจทก์ไปใช้ต้องได้รับอนุญาตจากโจทก์โดยทำเป็นสัญญาดังเช่นสัญญาที่โจทก์ทำกับบริษัทอาร์สยาม จำกัด ตามสัญญาดังกล่าวบริษัทอาร์สยาม จำกัด สามารถนำนามแฝงและภาพถ่ายโจทก์ไปใช้ได้ตามภาพถ่ายปกวีซีดีคาราโอเกะ ดังนี้ นามแฝงโจทก์ว่า “หนู มิเตอร์” และภาพถ่ายโจทก์ที่พิมพ์อยู่บนปกและแผ่นซีดีเพลงกับแผ่นวีซีดีคาราโอเกะซึ่งจำเลยทั้งสองผลิตออกจำหน่ายย่อมทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่านามแฝง “หนู มิเตอร์” เป็นนามแฝงโจทก์ เมื่อดูจากภาพถ่ายโจทก์ประกอบการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการเอานามแฝง “หนู มิเตอร์” ไปใช้โดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้จากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของนามแฝงนั้น เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยทั้งสองในการใช้นามแฝงโจทก์ดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองใช้นามแฝงโจทก์โดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และ 420
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ