แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมสามารถยื่นอุทธรณ์ขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ขาดได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง จึงให้คืนค่าธรรมเนียมที่โจทก์ร่วมเสียมาในชั้นอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 970,193.96 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทสยามนิสสัน เพชรบูรณ์ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,017,920.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 957,855.05 บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก จำคุก 4 ปี และให้จำเลยคืนทรัพย์ รวม 256 รายการ หรือใช้ราคาเป็นเงิน 528,215.05 บาท แก่โจทก์ร่วม กับให้จำเลยคืนเงินที่ลักไป 59,367.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กันยายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนทรัพย์ตามใบกำกับภาษีแก่โจทก์ร่วมด้วย หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 59,367.46 บาท ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยคืนเงินที่ลักไปพร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในหน้า 18 ย่อหน้าสุดท้ายจนถึงหน้า 24 ซึ่งเป็นข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม แต่เมื่ออ่านฎีกาของจำเลยโดยตลอดแล้วเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยและเมื่อฎีกาของจำเลยในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า โจทก์ร่วมแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยให้ข้อหาลักทรัพย์นายจ้างหลายครั้ง แต่ไม่อาจยืนยันว่าเป็นครั้งใด ไม่อาจลงโทษจำเลยได้นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมต่างวันเวลากัน และทรัพย์ที่ลักไปเป็นคนละชนิดกันอันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดการกระทำของจำเลยให้ปรากฏพอที่จะให้เห็นว่า โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษทุกกรรมดังที่ได้ความตามทางพิจารณา ดังนี้ คงลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์นายจ้างเพียงกรรมเดียว จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งในส่วนนี้ว่า ในกรณีความผิดต่างกรรมต่างวาระกรณีนี้โจทก์ร่วมแจ้งความดำเนินคดีเอากับจำเลยว่าทำผิดลักทรัพย์นายจ้างหลายครั้ง แต่ไม่อาจยืนยันว่าเป็นครั้งใด ครั้งไหนไม่อาจยืนยันได้ จึงเป็นข้อกฎหมายที่จำเลยเห็นว่าแม้เป็นเพียงกรรมเดียวดังดุลพินิจของศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ไม่อาจนำสืบได้สมฟ้องดังฟ้องโจทก์ กรณีจึงไม่น่ารับฟังลงโทษจำเลยแม้ดุลพินิจจะลงโทษจำเลยเพียงกรรมเดียว ดังนี้ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวไม่ได้คัดค้านว่าที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปหลายกรรมต่างวาระกันแล้วลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์เพียงกรรมเดียวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จำเลยเพียงแต่ยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างลอย ๆ ประกอบความเห็นของจำเลยเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
โจทก์ร่วมสามารถยื่นอุทธรณ์ขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ขาดได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง จึงให้คืนค่าธรรมเนียมที่โจทก์ร่วมเสียมาในชั้นอุทธรณ์
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ร่วม