คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ เพราะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง และประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยในส่วนข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาใหม่
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของหนองน้ำและลำรางสาธารณประโยชน์ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) การที่โจทก์ให้จำเลยและผู้อื่นเช่าที่ดินพิพาทจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิเพราะเท่ากับนำที่ดินของรัฐไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยรัฐไม่ยินยอม และมีผลเป็นการมอบการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยและผู้เช่ารายอื่นๆ ทำให้โจทก์ขาดการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 60/1 หมู่ที่ 1 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ออกไปจากที่ดินซึ่งไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ตามแผนที่สังเขปแสดงการครองครองที่ดินภายในกรอบเส้นสีน้ำเงินพื้นที่สีเหลือง และให้จำเลยกับบริวารร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 63,000 บาท และนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ออกไปจากที่ดินของโจทก์เสร็จสิ้นในอัตราเดือนละ 2,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทภายในแนวเขตเส้นสีเขียวตามแผนที่วิวาทของเจ้าพนักงานที่ดินและให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 15,500 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายสิ่งของออกจากที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณานายเรียมผู้จัดการมรดกของนายบางถึงแก่กรรมโดยมีนางหล่ำผู้จัดการมรดกคนใหม่เข้าดำเนินคดีต่อไปและจำเลยถึงแก่กรรม นายชาติ นายวิชัย นายวันชัย และนางเชื่อม ทายาทของจำเลย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาต้องกันให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน (ลำรางสาธารณประโยชน์และทางน้ำ) และในการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้แต่ประการใด เพราะจำเลยให้การแต่เพียงว่าบิดามารดาของจำเลยบุกเบิกจับจองที่ดินพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ได้หมดสภาพการใช้เป็นสาธารณประโยชน์แล้ว หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยกล่าวอ้างก็แสดงว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้เพราะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง และโดยที่ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยในส่วนข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาใหม่ซึ่งศาลฎีกา เห็นว่า จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านอาศัยอยู่นั้นเป็นที่หลวงด้านหลังบ้านติดคลองบางน้ำจืด ขณะที่อยู่อาศัยไม่มีผู้ใดแสดงตัวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และมีนายชัยวัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยอาศัยอยู่ในหมู่ที่ 1 มา 20 ปีเศษแล้ว โดยบริเวณที่จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยเดิมเป็นลำราง เรียกว่า คลองบางด้วนใช้เป็นทางสัญจรของเรือ ต่อมาคลองดังกล่าวตื้นเขิน จึงได้มีการทำนาข้าวในบริเวณคลอง และพยานได้ตรวจดูระวางแผนที่ของกรมที่ดินแล้ว ปรากฏว่าที่ดินส่วนที่จำเลยอยู่อาศัยในบริเวณลำรางสาธารณะ ส่วนที่ดินข้างเคียงปัจจุบันได้มีการออกโฉนดเรียบร้อยแล้ว และเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2540 ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ช่างรังวัดของกรมที่ดินมาทำการรังวัดเพื่อออกหลักฐานบริเวณที่ดินซึ่งเป็นลำรางและหนองน้ำ ซึ่งรวมถึงบริเวณบริเวณที่จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยด้วย กับมีนายวิชัยเป็นพยานเบิกความว่า พยานรู้จักทั้งโจทก์และจำเลยเนื่องจากอยู่หมู่บ้านเดียวกัน คลองบางด้วนเดิมใช้เป็นทางระบายน้ำหรือเป็นทางสัญจรทางเรือ ลำรางดังกล่าวประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน บ้านของบิดาโจทก์อยู่ทางทิศตะวันตกของลำรางสาธารณะ ส่วนบ้านของจำเลยอยู่ในเขตลำรางสาธารณะใกล้เคียงกับเครื่องหมายดอกจันในแผนที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเคยเรียกพยานไปสอบถามเรื่องลำรางสาธารณะ และที่ดินจังหวัดชี้แจงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่าเป็นบริเวณลำรางสาธารณะ แต่ยังรังวัดไม่เสร็จเนื่องจากโจทก์คัดค้าน ซึ่งพยานจำเลยทั้งสองดังกล่าวต่างเบิกความยืนยันว่าบริเวณที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัย อยู่ในบริเวณลำรางสาธารณะ ส่วนพยานหลักฐานของโจทก์ แม้ว่าโจทก์จะมีนายเต๋อ นายพงษ์เพชร นายสถิตย์ และตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย นอกจากนี้ยังมีผู้อื่นทำสัญญาเช่าที่ดินในบริเวณนี้อีก 7 ถึง 8 ราย แต่โจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าที่ดินพิพาทไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน เพียงแต่โจทก์ได้รับมรดกตกทอดมาจากบิดา มารดา และตากับยาย และในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำแผนที่พิพาทโดยเจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้ทำซึ่งคู่ความลงลายมือชื่อรับรองไว้แล้ว โดยโจทก์นำชี้ว่าเป็นที่ดินของโจทก์ 10 ไร่เศษ และโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ไม่เคยเสียภาษีบำรุงท้องที่ ไม่เคยยื่นคำขอรังวัดสอบเขตเพื่อออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 แต่ที่ดินรอบ ๆ ที่ดินพิพาทสามารถออกโฉนดได้สอดคล้องกับแผนที่สังเขปแสดงที่ดินพิพาทของโจทก์เองว่าที่ดินบริเวณรอบ ๆ ที่ดินพิพาทมีการออกโฉนดแล้วทุกแปลงเป็นเวลานานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 84 ปี พฤติการณ์ของโจทก์เท่ากับยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นการเจือสมกับพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของหนองน้ำและลำรางสาธารณประโยชน์ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) การที่โจทก์ให้จำเลยและผู้อื่นเช่าที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิเพราะเท่ากับนำที่ดินของรัฐไปให้บุคคลอื่นเช่า โดยรัฐไม่ยินยอมและมีผลเป็นการมอบการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยและผู้เช่ารายอื่น ๆ ทำให้โจทก์ขาดการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share