คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 832/2512

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

ในการเล่นพนันชนไก่ คู่พนันได้วางเงินเดิมพันล่วงหน้าไว้กับนายบ่อนก่อนรู้ผลแพ้ชนะ. ต่อมานายบ่อนได้จ่ายเงินให้เจ้าของไก่ซึ่งชนะไป. เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ชำระหรือให้กันในการเล่นพนัน.จึงทวงคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เป็นนายบ่อน(สนาม) ชนไก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ เก็บเงินรายได้จากผู้เข้าเล่นพนันในบ่อน (สนาม) ของตน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2508 เวลากลางวัน โจทก์นำไก่ผู้สีเทาเข้าไปชน (ตี) กับไก่ของจำเลยที่ 3 โดยตกลงวางเงินพนันฝ่ายละ 2,000บาท ทั้งสองฝ่ายได้มอบให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เก็บรักษาไว้ เพื่อจ่ายให้เจ้าของไก่ตัวที่ชน (ตี) ชนะไป การพนันชนไก่นี้มีสัญญาเป็นข้อกติกาว่า เมื่อไก่ฝ่ายหนึ่งถูกไก่อีกฝ่ายหนึ่งชน (ตี) จนตาแตกบอดทั้งสองข้างให้ถือว่าไก่ที่ตาบอดแตกทั้งสองข้างเป็นฝ่ายแพ้พนัน ให้นายบ่อน (สนาม) จ่ายเงินที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้รักษาไว้แก่เจ้าของไก่ฝ่ายที่ชนะ ถ้าไม่มีไก่ตัวใดแพ้ชนะก็ให้นายบ่อน (สนาม) คืนเงินให้แก่เจ้าของไก่ จำเลยที่ 1 นอกจากจะเป็นนายบ่อน (สนาม) แล้ว ยังเป็นกรรมการชี้ขาดด้วย จำเลยที่ 1 มีเจตนาไม่สุจริตได้ชี้ขาดขณะไก่ของโจทก์และของจำเลยที่ 3 กำลังต่อสู้กันว่าไก่ของโจทก์ตาบอดแตกทั้งสองข้างให้ไก่ของโจทก์เป็นฝ่ายแพ้ ทั้งที่ไก่ของโจทก์ยังสู้ไก่ของจำเลยที่ 3 อยู่ และตาไก่ของโจทก์ก็หาได้บอดแตกทั้งสองข้างดังคำชี้ขาดของจำเลยไม่ โจทก์ได้คัดค้านแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เชื่อฟังได้เอาเงิน 2,000 บาทของโจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 3 ไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำให้โจทก์เสียเงินไปโดยไม่ถูกต้องตามสัญญาข้อกติกาที่วางไว้ จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิจะเอาเงินของโจทก์ไป โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามไม่ยอมคืนให้โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยคืนเงิน 2,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2508 จนกว่าจะใช้เงินเสร็จให้โจทก์ และให้ใช้ค่าธรรมเนียมค่าทนายแทนโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้เป็นนายบ่อน (สนาม) ชนไก่จังหวัดกาฬสินธุ์จริง โดยมีผู้อื่นเป็นหุ้นส่วนในบ่อนชนไก่นี้ร่วมกับจำเลยด้วย ในวันที่ 26 ธันวาคม 2508 เวลากลางวัน มีไก่เข้าชนพนันกันหลายคู่ ไก่สีเทาซึ่งเป็นมูลเหตุพิพาทคดีนี้จะเป็นไก่ของโจทก์หรือไม่จำเลยไม่ทราบ แต่ไก่ที่เป็นคู่ชนกับไก่สีเทาตัวนี้มิใช่ไก่ของจำเลยที่ 3 เงินพนันฝ่ายละ 2,000 บาทเป็นเงินที่เก็บจากผู้เข้าเล่นพนันฝ่ายละหลายคน จะเป็นของโจทก์จำนวนเท่าใดจำเลยไม่ทราบฟ้องโจทก์ข้อนี้จึงเคลือบคลุม จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาร้ายต่อโจทก์ ไก่ของโจทก์ตาแตกและไม่เข้าชนคู่ต่อสู้ จึงถูกชี้ขาดให้เป็นฝ่ายแพ้ จำเลยจึงได้จ่ายเงิน2,000 บาทที่วางไว้ให้แก่ฝ่ายชนะไป จำเลยตัดฟ้องว่า มูลฟ้องของโจทก์เกิดจากการพนันขันต่อซึ่งไม่ก่อให้เกิดหนี้จึงเรียกคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 หากจะฟังว่าฟ้องของโจทก์มีผลบังคับ จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิใช่ผู้รับผลประโยชน์จากบ่อนพนันโดยลำพังตนเอง โจทก์จะต้องฟ้องเรียกเงินคืนจากหุ้นส่วนทั้งหมด โจทก์ฟ้องผิดตัว จำเลยทั้งสามหาต้องรับผิดอย่างใดไม่ ทางพิจารณาคู่ความแถลงรับกันว่า 1. จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนของบ่อนชนไก่และเป็นนายบ่อนชนไก่รายนี้ และยังมีหุ้นส่วนอื่นอีกรวมเป็น 10 คน เป็นหุ้นส่วนสามัญ 2. จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการตัดสินการชนไก่ มีอำนาจตัดสินชี้ขาดตามกติกา โจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างได้นำไก่มาชนกัน และจำเลยที่ 1ได้จับไก่ของโจทก์ออกจากไก่ของจำเลยที่ 3 จริง 3. กติกาเป็นไปตามเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยส่งศาล 4. จำเลยที่ 1 ชี้ขาดให้ไก่ของจำเลยที่ 3 ชนะ จำเลยที่ 1 ที่ 2ได้จ่ายเงินเดิมพัน 2,000 บาทให้ฝ่ายชนะไป 5. เงินเดิมพันทั้งหมด 4,000 บาทเป็นเงินฝ่ายละ 2,000 บาททุกฝ่ายให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ถือไว้สำหรับจ่ายให้ฝ่ายชนะ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นนำสืบว่า 1. เงินเดิมพัน 2,000 บาทเป็นของโจทก์คนเดียวหรือไม่ 2. ตอนจำเลยที่ 1 จับไก่ออกจากกันไก่ของโจทก์ตาบอดแตกทั้งสองข้างหรือไม่ และโจทก์ได้คัดค้านไม่ยอมให้จ่ายเงิน แต่จำเลยที่ 1ที่ 2 ขืนจ่ายไปใช่หรือไม่ 3. จำเลยที่ 3 ได้รับเงินเดิมพันไปจำนวนเท่าใด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องเรียกเอาทรัพย์ที่ให้แก่กันในการพนันขันต่อต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 หรือไม่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสิ่งที่ให้แก่กันในการพนันหรือขันต่อนั้น หากปราศจากความสมัครใจหรือความยินยอมของผู้ให้แล้วจะถือเป็นการให้ไม่ได้ โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า การที่จำเลยที่ 1 ตัดสินให้ไก่ของโจทก์แพ้ เป็นการปฏิบัติผิดกติกา โจทก์ได้คัดค้านแล้วจำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่เชื่อฟัง จำเลยที่ 3 ได้รับเงินของโจทก์ไปโดยโจทก์ไม่สมัครใจและยินยอมให้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ถือเงินของโจทก์ไว้ มิได้เล่นพนันกับโจทก์ด้วย คำฟ้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย สำหรับข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นเชื่อว่า ตอนจำเลยที่ 1 จับไก่ออกจากกัน ไก่ของโจทก์ตาไม่บอดแตกทั้งสองข้าง ยังสู้ไก่ของจำเลยที่ 3 อยู่ การตัดสินของจำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกกติกา โจทก์ได้พูดคัดค้านแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมฟัง จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังคงขืนจ่ายเงิน 2,000 บาทให้จำเลยที่ 3 รับไป ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ถือเงิน 2,000 บาทของโจทก์ไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ เมื่อโจทก์คัดค้านจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องปฏิบัติตาม เมื่อขืนจ่ายไป เป็นการทำการโดยปราศจากอำนาจต้องรับผิดใช้เงิน 2,000 บาทแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์คัดค้านการจ่ายเงิน เพราะกรรมการตัดสินผิดกติกายังขืนรับเงินของโจทก์ไป ถือได้ว่าได้รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และไม่สุจริต จำเลยที่ 3 ต้องคืนเงินให้โจทก์ในฐานะเป็นลาภมิควรได้ และฟังได้ว่าโจทก์ได้คัดค้านและทวงเงินคืนในวันที่ 26 ธันวาคม 2508 ซึ่งเป็นวันชนไก่นั่นเอง จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวแต่วันนั้นเป็นต้นไปพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์ 2,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2508เป็นต้นไปให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 150 บาทแทนโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ในกรณีที่เจ้าของไก่คู่พนันต้องวางเงินเดิมพันล่วงหน้าไว้ที่นายบ่อน เพื่อเป็นที่แน่นอนว่า นายบ่อนต้องได้ค่าน้ำและค่านายหน้าตามกติกาและคู่พนันฝ่ายที่ชนะจะต้องได้รับเงินเดิมพัน เงินที่นายบ่อนรับไว้ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการชำระหนี้ที่คู่พนันชำระแก่ตน และรับเงินที่เหลือจากนั้นไว้แทนคู่พนันฝ่ายที่ชนะ เพื่อจ่ายให้ผู้ชนะ แม้ขณะนั้นจะยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดจะชนะก็ตาม ฉะนั้น เงินที่จำเลยที่ 1ที่ 2 รับไว้จากโจทก์และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่พนันของโจทก์ย่อมเป็นเงินที่รับไว้เพื่อตนเองบางส่วน และรับไว้แทนจำเลยที่ 3 เพื่อจ่ายให้จำเลยที่ 3 บางส่วน เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์ได้ชำระหรือให้กันไปแล้วในการเล่นพนัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนให้โจทก์ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังขึ้น พิพากษากลับเป็นให้ยกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความสองศาลรวม 250 บาทแทนจำเลย โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ตั้งบ่อนชนไก่ จำเลยที่ 1ยังมีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดการแพ้ชนะตามกติกาที่บ่อนวางไว้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2508 โจทก์นำไก่ของโจทก์เข้าชนกับไก่ของจำเลยที่ 3 โดยวางเงินเดิมพันฝ่ายละ 2,000 บาทให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ซึ่งเป็นนายบ่อนรักษาไว้ เมื่อไก่ของผู้ใดชนะ จำเลยที่ 1 ที่ 2จะจ่ายเงินจำนวนนี้ให้เจ้าของไก่ที่ชนะไปหลังจากที่ได้หักเงินค่าน้ำของบ่อนไว้แล้ว ไก่ของโจทก์และจำเลยที่ 3 ชนกันได้ 3 ยก จำเลยที่ 1เห็นไก่ของโจทก์ตาข้างหนึ่งปิด อีกข้างหนึ่งแตกมีเลือดออกมากจึงชี้ขาดให้ไก่ของโจทก์แพ้ โจทก์คัดค้านว่ายังไม่แพ้ จำเลยที่ 1ว่าต้องเป็นไปตามที่จำเลยที่ 1 ชี้ขาด และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้จ่ายเงินเดิมพันของโจทก์ 2,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 3 ไป โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นนายบ่อนมีฐานะเป็นคนกลางหรือตัวแทนของโจทก์ ไม่ใช่คู่พนันกับโจทก์ เงินเดิมพันของโจทก์และจำเลยที่ 3 ที่มอบให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เก็บรักษาไว้ จึงไม่ใช่เงินที่ชำระกันในการเล่นพนัน ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว โจทก์เบิกความรับว่าเป็นหน้าที่นายสนามจ่ายเงินให้ผู้ชนะ จำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่าในการพนันชนไก่ เจ้าของไก่ต้องรวบรวมเงินเดิมพันวางไว้กับนายบ่อนเมื่อนายบ่อนหักค่าน้ำไว้แล้วจะจ่ายเงินเดิมพันที่เหลือให้เจ้าของไก่ชนะไป พอรับฟังได้ว่าการเล่นพนันชนไก่นี้เจ้าของไก่จะต้องรวบรวมเงินเดิมพันจากพรรคพวกฝ่ายตนมอบไว้กับนายบ่อนซึ่งเป็นคนกลางเพื่อจ่ายให้ผู้ชนะ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการบิดพลิ้วไม่ชำระเงินเมื่อไก่แพ้ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะเป็นเพียงนายบ่อนไม่ใช่คู่พนันกับโจทก์ แต่เงินเดิมพันที่โจทก์และจำเลยที่ 3 วางไว้กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นนายบ่อน ก็เพื่อให้นายบ่อนจ่ายให้แก่เจ้าของไก่ฝ่ายที่ชนะซึ่งเป็นคู่พนัน แม้จะวางไว้ก่อนที่จะรู้ผลแพ้ชนะก็มิใช่ข้อสำคัญถือได้ว่าเป็นเงินที่ผู้เล่นพนันชำระให้แก่กันในการเล่นพนันนั่นเอง โจทก์จึงทวงคืนไม่ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 853 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าทนายความชั้นฎีกา100 บาทแก่จำเลย.

Share