แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 2 (1) (ก) กำหนดให้รถยนต์ต้องมีโคมไฟแสงพุ่งไกลหน้ารถมีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า100 เมตร และตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 1 (1) กำหนดให้รถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัม ใช้ความเร็วนอกเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาลไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร รถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับบรรทุกมันอัดเม็ดรวมน้ำหนักของมันอัดเม็ดและน้ำหนักรถเกิน 1,200กิโลกรัม จำเลยจึงต้องขับรถยนต์บรรทุกด้วยความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตรและถ้าโคมไฟแสงพุ่งไกลของรถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับมีแสงสว่างเห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 100 เมตร จำเลยจะต้องมองเห็นรถยนต์โดยสารจอดอยู่ในระยะไม่น้อยกว่า 100 เมตร เมื่อจำเลยเห็นรถยนต์โดยสารจอดอยู่ ในขณะเดียวกันมีรถยนต์บรรทุกแล่นสวนมา ซึ่งจำเลยไม่อาจจะหักหลบรถยนต์โดยสารได้ จำเลยก็ต้องเหยียบห้ามล้อ ถ้าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกมาด้วยความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตรรถยนต์บรรทุกก็ย่อมจะหยุดได้โดยไม่เฉี่ยวชนรถยนต์โดยสาร การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกมาด้วยความเร็วมากมีฝนตกและเป็นทางโค้ง ซึ่งโดยวิสัยของผู้ขับรถจะต้องชะลอความเร็วของรถลงกว่าปกติ แต่จำเลยที่ 1 หาได้ชะลอความเร็วของรถยนต์บรรทุกไม่เป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในภาวะเช่นนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาในเรื่องค่าเสียหายว่า รถยนต์โดยสารของโจทก์ไม่ได้ซ่อม โจทก์ตีราคาเองสูงเกินไป ตามสภาพรถยนต์โดยสารสามารถซ่อมได้ในราคา 90,000 บาท นั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกควรจะเป็นอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย