คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527บัญญัติขึ้นเพื่อปราบปรามการกระทำที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนกับวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวมรัฐเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีในความผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าวเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343,83, 91 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 12, 15 จำเลยที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 หลบหนี จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนได้หลบหนีไม่มีผู้กระทำแทน ศาลชั้นต้นได้สั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527นั้น ราษฎรไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และพิพากษาว่าจำเลยที่ 8 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 วางโทษจำคุก 5 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 โจทก์และจำเลยที่ 8 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 8 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527หรือไม่ เห็นว่า พระราชกำหนดดังกล่าวได้บัญญัติขึ้นเพื่อปราบปรามการกระทำที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กับวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม ดังนั้นความผิดตามพระราชกำหนดนี้ รัฐเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก, 83 ให้วางโทษจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share