คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนเล็กกลยิงกราดผู้เสียหายและผู้ตายในโรงภาพยนตร์ แต่มีพยานแวดล้อมโดยผู้เสียหายคนหนึ่งเห็นจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุในเวลาใกล้เคียงกับขณะเกิดเหตุ สอดคล้องกับคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลย จำเลยรับสารภาพทั้งชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนต่อหน้านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ทั้งยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและขอขมาต่อผู้เสียหายและบิดามารดาของผู้ตายด้วยความสมัครใจเพราะสำนึกผิดและโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชนและสื่อมวลชนพยานโจทก์ทุกปากไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีเหตุผลที่จะให้การปรักปรำจำเลย พนักงานสอบสวนก็ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยในวันพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยก็ยังให้การรับสารภาพในตอนต้น แม้ต่อมาจะกลับให้การปฏิเสธ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นเพราะเหตุใด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว จำเลยก็มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา เชื่อว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีและพาอาวุธปืนเล็กกลแบบ เอ.เค. 47ขนาด 7.62 มม. จำนวน 1 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนปืน โดยฝ่าฝืนกฎหมายแล้วใช้ยิงกราดสาดกระสุนปืนหลายนัดหลายชุดเข้าไปในบริเวณผู้นั่งชมภาพยนตร์ ฆ่านายสมพร ถิ่นวงษ์ยอด กับพวกผู้ชมภาพยนตร์ให้ตายโดยมีเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80, 376, 32, 33, 83,91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72,72 ทวิ, 55, 78 เดิมจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ได้กลับคำให้การเดิมเป็นปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) บทหนักที่สุด โดยลดโทษให้กึ่งหนึ่งจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว โจทก์จำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นคงฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ได้มีคนร้ายหลายคนใช้อาวุธปืนอาร์ก้า (เล็กกล)ยิงกราดเข้าไปในบริเวณโรงภาพยนตร์ที่เกิดเหตุ กระสุนปืนถูกบุคคลหลายคน เป็นเหตุให้มีบุคคลถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตายและบาดเจ็บตามที่โจทก์ฟ้อง ปัญหามีว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ด้วยหรือไม่โจทก์มีนายบุญชวน สุขประวิทย์ผู้เสียหายเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พยานไปดูภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ชั่วคราวที่เรียกว่า วิกกิโล 20 ซื้อตั๋วราคา 10 บาทเดินเข้าไปในโรงภาพยนตร์เห็นจำเลยเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์ พยานนั่งดูภาพยนตร์ราว 1 ชั่วโมง ก็ได้ยินเสียงปืนดัง 4-5 นัด จากทางหน้าโรงหลังจากนั้นเสียงปืนดังอีก 3-4 นัด ต่อมาก็ดังอีก 1 นัด จากนอกโรงภาพยนตร์ พยานถูกกระสุนปืนที่ขาขวาใต้เข่า ต้องถูกตัดขาหลังเกิดเหตุแล้ว 4-5 วัน ชาวบ้านพูดกันว่า จำเลยคือคนยิง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ จำเลยได้ไปขอขมาพยานและบิดาพยานว่าจำเลยไม่ได้ตั้งใจยิงพยาน ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.6นอกจากนี้จำเลยยังได้ไปขอขมานางปูน ถิ่นวงษ์ยอด มารดานายสมพรผู้ตาย ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 และขอขมานายสุชาติจัตมาศ บิดาเด็กชายสุทินผู้ตาย ตามภาพถ่ายหมาย จ.4 อีกด้วยโจทก์ยังมีนายดาบตำรวจสำราญ สุดสวาสดิ์ กับนายดาบตำรวจสมมิตร จันทร์น้อย เบิกความต้องกันว่า วันเกิดเหตุได้ทราบจากชาวบ้านในบริเวณที่เกิดเหตุว่า คนร้ายรายนี้คือจำเลย นายตึ๋งหรือพงษ์นคร นายน้ำอ้อย และนายบุญ จึงได้ออกสืบสวนจับกุมในวันรุ่งขึ้นพบจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์มีนายตึ๋งซ้อนท้าย เมื่อจำเลยเห็นพยานทั้งสองซึ่งมารถยนต์ ก็ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปในสวนยางแล้วทิ้งรถจักรยานยนต์หนีไป พยานทั้งสองจึงนำรถจักรยานยนต์คันนั้นไปเก็บไว้สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชุมพร ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาขอรับรถคืน พันตำรวจตรีสมบูรณ์ สุวรรณโณ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุวันที่ 12 ธันวาคม 2527 พยานเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชุมพร ได้มีผู้มาแจ้งว่ามีคนร้ายยิงปืนเข้าไปในโรงภาพยนตร์ฉายหนังเร่มีคนตายและบาดเจ็บ ทางสอบสวนได้ความว่าคนร้ายมีทั้งหมด 4 คน คือ นายตึ๋งหรือพงษ์นคร บุญพงศ์นายถึกหรือปราณี จำเลยส่วนอีก 2 คน จำชื่อไม่ได้ และได้ตามจับนายตึ๋งหรือพงษ์นครได้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2527 พร้อมด้วยปืนอาร์ก้า 1 กระบอก กระสุน 6 นัด และปืนแก๊ปอีก 1 กระบอกนายตึ๋งรับว่าได้พาจำเลยไปเอาปืนจริง แต่นายตึ๋งไม่ได้ยิงจำเลยเป็นคนยิง พันตำรวจตรีณรงค์ชัย ไวอาภา เบิกความว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2528 ได้รับคำสั่งให้จับกุมจำเลยซึ่งกลับมาอยู่ที่บ้านภรรยาที่ตำบลวังใหม่ อำเภอเมืองชุมพร พยานกับเจ้าพนักงานตำรวจรวมประมาณ 20 คน ไปล้อมบ้านเพื่อจับกุม จำเลยโดดลงจากบ้านวิ่งเข้าสวนยางและยิงต่อสู้ ในที่สุดก็จับจำเลยได้โดยจำเลยถูกยิงที่ข้อเท้า จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุม พันตำรวจโทวิพันธ์พันธุ์วิชาติกุล เบิกความว่า ทางสอบสวนในวันเกิดเหตุทราบจากชาวบ้านว่าจำเลยกับพวกเป็นคนยิง วันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์หนีเข้าไปในสวนยางแล้วทิ้งรถจักรยานยนต์ไว้ จับจำเลยไม่ได้ คงยึดได้แต่รถมา แต่จับพวกของจำเลยได้ คือนายตึ๋ง นายน้ำอ้อย และนายนุญ ได้ปืนอาร์ก้าของกลางที่นายตึ๋ง แต่ทั้งสามคนนี้ปฏิเสธว่าไม่ได้ยิง จำเลยเป็นคนยิง ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2528 จึงล้อมจับจำเลยได้ที่บ้านญาติภรรยาจำเลยจำเลยรับว่าใช้ปืนอาร์ก้าของกลางยิงเข้าไปในโรงภาพยนตร์จริงแต่ปฏิเสธเรื่องต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่เข้าจับกุม ปรากฏตามบันทึกคำให้การจำเลยเอกสารหมาย จ.8 เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเลย แต่มีพยานแวดล้อม ปัญหาอยู่ที่ว่าพยานแวดล้อมดังกล่าวแล้วมีน้ำหนักพอรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ คดีนี้แม้ไม่มีใครเห็นจำเลยเป็นคนยิงแต่นายบุญชวนเบิกความว่า เห็นจำเลยเดินสวนออกมาจากโรงภาพยนตร์ขณะที่นายบุญชวนเดินเข้าไป นั่งดูภาพยนตร์อยู่ราว1 ชั่วโมง ก็ได้ยินเสียงปืนหลายนัด และตนก็ถูกยิงจนถึงกับต้องตัดขาขวา อันแสดงว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุในเวลาใกล้เคียงกับขณะเกิดเหตุและสอดคล้องกับคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.8 ว่าจำเลยเข้าไปเอารถจักรยานยนต์ของจำเลยที่นายตึ๋งยืมมาจากในโรงภาพยนตร์ชั่วคราวที่อยู่กลางแจ้ง ซึ่งทางโรงอนุญาตให้นำรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดดูภาพยนตร์ได้ ขาเข้าไม่มีเรื่องแต่ขาออกนายสมพรผู้ตายหาว่าจำเลยแกล้งมาเอารถเพื่อดูภาพยนตร์ไม่เสียเงิน จำเลยจึงกลับไปบ้านแม่ยายไปเอาปืนอาร์ก้าซึ่งซ่อนไว้ในสวน ได้ปืนแล้วก็เดินจากบ้านกลับมาที่โรงภาพยนตร์อีกเอาปืนไปซุกไว้ที่รถยนต์รับจ้างหน้าโรง แล้วเดินไปดูผู้ตาย เห็นหันหลังให้จึงกลับมาเอาปืนที่รถไปยิงผู้ตาย ระยะทางจากบ้านแม่ยายมาโรงภาพยนตร์ประมาณ 1 กิโลเมตร การไปกลับ รวมทั้งไปเอาปืนอาร์ก้าที่ซ่อนในสวนและเอามาซุกไว้ที่รถ ไปดูผู้ตายก่อนแล้วจึงกลับมาเอาปืนไปยิง ก็คงจะเป็นระยะเวลาใกล้เคียงกับที่นายบุญชวนเบิกความว่าพบกับจำเลยเดินออกไปแล้วประมาณ1 ชั่วโมง จึงได้ยินเสียงปืนดังหลายนัด มิใช่พอจำเลยแยกไปก็มีเสียงปืนดังทันที คำเบิกความของนายบุญชวนกับคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยจึงสอดคล้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ คำรับสารภาพทั้งชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทำต่อหน้านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทั้งจำเลยยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและขอขมาต่อผู้เสียหายและบิดามารดาผู้ตายตามภาพถ่ายหมาย จ.2, จ.4, จ.6,จ.7, จ.9 และ จ.10 พันตำรวจโทวิพันธ์ พันธุ์วิชาติกุลพนักงานสอบสวนเบิกความรับรองว่าจำเลยได้รับสารภาพ นำชี้ และขอขมาด้วยความสมัครใจเพราะสำนึกผิดเสียใจที่ทำให้บุคคลซึ่งไม่รู้เรื่องอะไรด้วยต้องบาดเจ็บล้มตายหลายคน การนำชี้ที่เกิดเหตุและขอขมาก็ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชนและสื่อมวลชนด้วย ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่บังคับขู่เข็ญดังจำเลยอ้าง เชื่อได้ว่าจำเลยกระทำด้วยความสมัครใจพยานโจทก์ทุกปากไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุผลที่จะให้การปรักปรำจำเลย โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนก็ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ส่วนที่จำเลยปฏิเสธในข้อหาต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานก็บันทึกในคำให้การว่าจำเลยปฏิเสธ และในวันพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นเมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องทั้งไม่ต้องการทนายความ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27 มิถุนายน 2528 หากจำเลยถูกบังคับให้รับสารภาพในชั้นสอบสวนก็ชอบที่จะปฏิเสธในชั้นศาลได้ แต่จำเลยก็ยังรับสารภาพต่อศาล แม้ต่อมาจะกลับให้การปฏิเสธก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นเพราะเหตุใด นอกจากนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว จำเลยก็มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษานี้แต่อย่างใดด้วยสรุปแล้วเชื่อว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share