คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269-1273/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยเห็นว่าตามคำฟ้อง คำให้การ และเอกสารที่คู่ความส่งศาล ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้แล้วไม่จำเป็นต้องสืบพยานฟังข้อเท็จจริงอีกต่อไป แล้วยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายให้ยกฟ้องโจทก์ ดังนี้ เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้
ประเด็นข้อสำคัญของคดีทั้ง 5 สำนวนซึ่งพิจารณารวมกันมีว่า เงินที่สาขาธนาคารโจทก์ในกรุงเทพฯ จ่ายให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นในต่างประเทศเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (9)(10)(11) หรือไม่ และเงินดังกล่าวถือว่าเป็นกำไรซึ่งโจทก์จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา70 ทวิหรือไม่ ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่ดอกเบี้ยที่คิดสำหรับเงินทุนเงินสำรองหรือเงินกองทุนของตนเอง ไม่ใช่เงินกำไรหรือกันไว้จากกำไร แต่เป็นเงินได้ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายและเป็นรายจ่ายที่จะทำให้ได้กำไรมาสำหรับดำเนินกิจการสาขาธนาคารโจทก์ในประเทศไทยโดยเฉพาะไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13)(14) จึงถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้จำเลยต่อสู้ว่าการจ่ายเงินดังกล่าวภายในธุรกิจนิติบุคคลเดียวกันต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (9)(10)(11) และถือว่าโจทก์จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ กับต่อสู้เกี่ยวกับข้อที่โจทก์อ้างว่ามีค่าใช้จ่ายโดยต่อสู้ด้วยว่า โจทก์จะยกเรื่องค่าใช้จ่ายนำมาฟ้องไม่ได้เพราะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ดังนี้ การที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวข้างต้นจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่คู่ความโต้เถียงกันเสียก่อนว่า เงินที่สาขาธนาคารโจทก์ในกรุงเทพฯจ่ายไปนั้นเป็นเงินที่จ่ายไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือตามที่จำเลยต่อสู้และมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ทั้งโจทก์ยกเรื่องค่าใช้จ่ายขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หรือไม่นอกจากนี้ในบางสำนวนยังมีข้อเท็จจริงที่คู่ความโต้เถียงกันอยู่ เกี่ยวกับโจทก์จำหน่ายเงินกำไรออกไปเมื่อไรก่อนหรือหลังมาตรา 70 ทวิใช้บังคับเจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีถูกต้องหรือไม่ ประเมินให้ชำระภาษีซ้ำหรือไม่ โจทก์ชำระเงินภาษีบางปีไปโดยผิดหลงหรือไม่ ทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ คดีขาดอายุความหรือไม่ โจทก์จำหน่ายเงินออกไปต่างประเทศจำนวนเท่าใด กันไว้เป็นเงินสำรองหรือไม่ ดังนั้นย่อมจำเป็นต้องสืบพยานของจำเลยทั้งสองฝ่ายเพื่อฟังข้อเท็จจริงให้ยุติเสียก่อนจึงจะวินิจฉัยได้ การที่ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนทั้ง 5 สำนวนที่พิจารณารวมกันไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานของคู่ความแล้วพิพากษาใหม่จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้ง 5 สำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมา โจทก์ทั้ง 5สำนวนฟ้องมีใจความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลในต่างประเทศ ประกอบกิจการธนาคารและมีสาขาในประเทศไทย เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยถือว่าการที่สาขาโจทก์ในประเทศไทยจ่ายค่าดอกเบี้ยให้แก่สำนักงานใหญ่หรือสาขาของธนาคารในต่างประเทศเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(9)(10)(11) และถือว่าเป็นการจำหน่ายเงินกำไรออกไปต่างประเทศตามมาตรา 70 ทวิ แต่โจทก์เห็นว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่จะนำมาคำนวณกำไรสุทธิได้ จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์

จำเลยให้การทำนองเดียวกันว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องชอบแล้ว

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ สั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยทั้ง 5สำนวน แล้วพิพากษายกฟ้องทุกสำนวน

โจทก์ทั้ง 5 สำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทุกสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานของคู่ความแล้วพิพากษาใหม่

จำเลยทุกสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานได้หรือไม่นั้น ตามสำนวนปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย คดีสำนวนที่สามเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2514 ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานสำนวนแรกและสำนวนที่ห้าตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 8 ธันวาคม 2514 ซึ่งในรายงานกระบวนพิจารณาทั้งสองสำนวนนั้นศาลได้สั่งรวมพิจารณาคดีทั้งห้าสำนวนนี้เข้าด้วยกันแล้วเลื่อนไปนัดพร้อมทุกสำนวนในวันที่ 22 ธันวาคม 2514 ดังนี้ ย่อมมีเหตุที่จะให้โจทก์ทุกสำนวนเข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทุกสำนวนแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2514 อันเป็นวันที่ศาลสั่งงดสืบพยานและรวมพิจารณาคดีทั้งห้าสำนวน โจทก์จึงได้ยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานไว้ในแต่ละสำนวนตั้งแต่ก่อนถึงวันนัดพร้อม ฉะนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งงดสืบพยานในสำนวนที่สองที่สี่และสั่งรวมพิจารณาคดีทุกสำนวนซ้ำอีกในวันที่ 22 ธันวาคม 2514 และโจทก์มิได้แถลงคัดค้านคำสั่งนั้นอีกก็ถือได้ว่าโจทก์ทุกสำนวนได้ยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานไว้แล้ว อย่างไรก็ดีการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยในคดีทั้งห้าสำนวนนี้ โดยเห็นว่าตามคำฟ้อง คำให้การและเอกสารที่คู่ความส่งศาลข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้แล้วไม่จำเป็นต้องสืบพยานฟังข้อเท็จจริงอีกต่อไป แล้วยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งห้าสำนวนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้

ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่าคดีไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานฟังข้อเท็จจริงกันอีกนั้น เห็นว่าประเด็นสำคัญของคดีทุกสำนวนมีว่า เงินที่สาขาธนาคารโจทก์ในกรุงเทพฯ จ่ายให้แก่สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นในต่างประเทศเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(9)(10)(11) หรือไม่ และเงินดังกล่าวถือว่าเป็นกำไรซึ่งโจทก์จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยหรือไม่ ข้อนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าเงินดังกล่าวเป็นรายจ่ายเพื่อชดเชยดอกเบี้ยที่สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นต้องจ่ายให้แก่ลูกค้าผู้ฝากเงิน มิใช่ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรอง หรือเงินกองทุนของตนเอง เป็นเงินที่ส่งออกไปในลักษณะเงินรายจ่ายไม่ใช่เงินกำไรหรือเงินที่กันไว้จากกำไร หรือถือได้ว่าเป็นเงินกำไรของสาขาธนาคารโจทก์ในประเทศไทย และเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อประโยชน์ที่จะทำให้ได้กำไรมาสำหรับดำเนินกิจการของสาขาธนาคารโจทก์ในประเทศไทยโดยเฉพาะไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(13)(14) จึงให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และเงินดังกล่าวไม่ใช่กำไรสุทธิแต่เป็นเงินได้ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย ฝ่ายจำเลยโต้เถียงว่าการจ่ายเงินดังกล่าวภายในธุรกิจนิติบุคคลเดียวกัน เป็นการจ่ายเงินให้แก่ตนเอง เท่ากับเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเอง โดยไม่มีการจ่ายจริง ทั้งถือว่าเป็นดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรอง หรือเงินกองทุนของตนเองและเป็นค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งนิติบุคคลเดียวกันเป็นเจ้าของและใช้เองต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(9)(10)(11) และถือว่าโจทก์ได้จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ และจำเลยต่อสู้เกี่ยวกับข้อที่โจทก์อ้างว่ามีค่าใช้จ่าย ดังนี้ การที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวข้างต้นได้ จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่คู่ความโต้เถียงกันให้ยุติเสียก่อนว่าเงินที่สาขาธนาคารโจทก์ในกรุงเทพฯ จ่ายไปนั้นเป็นเงินที่จ่ายไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือตามที่จำเลยต่อสู้ และมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ กับโจทก์จะยกเรื่องค่าใช้จ่ายนำมาฟ้องได้หรือไม่ โดยจำเลยต่อสู้ว่าโจทก์มิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งจำเป็นจะต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายนอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันอยู่ว่า โจทก์สำนวนแรกจำหน่ายเงินกำไรสำหรับรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2502 ออกไปก่อนหรือหลังมาตรา 70 ทวิใช้บังคับเจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไรปี พ.ศ. 2505 และ2506 ของโจทก์ สำนวนที่สองถูกต้องหรือไม่กับประเมินให้ชำระภาษีซ้ำหรือไม่ และโจทก์สำนวนที่สองชำระภาษีเงินได้ปี พ.ศ. 2503 ถึง 2506รวมเป็นเงิน 1,543,084.50 บาท ไปโดยผิดหลง จำเลยที่ 1 ได้เงินไปโดยไม่มีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์สำนวนที่ห้าได้จ่ายเงินออกไปจากประเทศไทยปี พ.ศ. 2507 จำนวนเท่าใดได้กันไว้เป็นเงินสำรองหรือไม่ และได้กันเงินที่จำเลยอ้างว่าจำหน่ายออกไปในปี พ.ศ. 2505, 2506 และ 2508 ไว้เป็นเงินสำรองจริงหรือไม่ เมื่อคู่ความยังโต้เถียงข้อเท็จจริงกันอยู่เช่นนี้ ย่อมจำเป็นต้องสืบพยานของทั้งสองฝ่ายเพื่อฟังข้อเท็จจริงให้ยุติเสียก่อนจึงจะวินิจฉัยคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานของคู่ความแล้วพิพากษาใหม่ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share