แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 และข้อ 6 มีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ทายาททุกคนที่เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความและผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาต้องเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายร่วมกับทายาทอื่นในการจดทะเบียนโอนที่ดิน และตามข้อ 6 ศ. ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรับโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ แต่ทายาททุกคนรวมทั้ง ศ. ไม่ออกค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ผู้ร้องจึงไม่อาจทำหน้าที่แบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ถึงข้อ 6 ได้ ทั้งผู้คัดค้านไม่ยอมรับโอนที่ดินส่วนของตนและได้อายัดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน แต่ไม่ใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงเพิกถอนการอายัด ทนายผู้ร้องมีหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 แล้วให้ผู้คัดค้านไปรับโอนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้พยายามดำเนินการแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านจะเป็นทายาท ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งของกองมรดก แต่การมอบหน้าที่ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวอาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นของกองมรดกได้ ดังนั้น หากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตายได้ ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน รวมทั้งทายาทคนอื่นก็สามารถยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไปได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 6 ตุลาคม 2540 ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายบรรจง ผู้ตาย ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้คัดค้าน นายศักดา และเรือเอกอำไพ ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นวันที่ 17 มิถุนายน 2554 ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดกและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยเบียดบังนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 43111 ไปให้แก่นางแจ๋ว และเพิกเฉยไม่จัดการทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 21273 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และไม่นำค่าเช่าที่ได้จากการนำที่ดินโฉนดเลขที่ 83599 (2771 เดิม) เนื้อที่ 18 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา ออกให้ผู้อื่นเช่าทำนามาแบ่งปันแก่ทายาท ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 และข้อ 5 มีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ทายาททุกคนทั้งที่เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความและผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาต้องเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายร่วมกับทายาทอื่นในการจดทะเบียนโอนที่ดิน และตามข้อ 6 นายศักดาต้องออกค่าใช้จ่ายในการรับโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ แต่ทายาททุกคนรวมทั้งนายศักดาไม่ออกค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ผู้ร้องจึงไม่อาจทำหน้าที่แบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ถึง ข้อ 6 ได้ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2771 ทายาทคนอื่นที่ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความประสงค์จะแบ่งแยกเป็นอย่างอื่นต่างจากที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งผู้คัดค้านไม่ยอมรับโอนที่ดินส่วนของตนและยังได้ทำการอายัดที่ดินแปลงดังกล่าวไว้เป็นเวลา 30 วัน แต่มิได้ใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงเพิกถอนการอายัด ผู้ร้องได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ทายาทผู้ตาย 6 คน แล้วที่เหลือที่ดินโฉนดเลขที่ 2771 หรือ 83599 ผู้ร้องจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้คัดค้านต่อไป สำหรับที่ดินที่โอนขายให้นางแจ๋วเป็นเรื่องนางแจ๋วปลูกโรงเรือนรุกล้ำที่ดินทรัพย์มรดก จึงแลกเปลี่ยนที่ดินกันเพื่อที่นางแจ๋วจะไม่ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป ส่วนเรื่องการให้เช่าที่นานั้น ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ตกลงให้ต้องนำค่าเช่ามาแบ่งปันกันอีก ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตั้งนางดารา ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2540 และมีคำสั่งใหม่ว่า ให้ตั้งนางดารา ผู้ร้อง และนางสุรางค์ ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนายบรรจง ผู้ตาย ร่วมกัน ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า ทนายผู้ร้องมีหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 แจ้งให้ผู้คัดค้านไปรับโอนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้พยายามดำเนินการแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านจะเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งของกองมรดก แต่การมอบหน้าที่ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวอาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นของกองมรดกได้ อีกทั้งกรณีไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ดังนั้น หากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตายได้ ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจจะร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน รวมทั้งทายาทคนอื่นก็สามารถยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไปได้ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของผู้คัดค้านที่ว่า การที่ผู้ร้องผิดสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการละเลยไม่ทำตามหน้าที่ จึงขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ