คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1561/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การและศาลชั้นต้นกำหนด เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้แล้ว แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มิได้วินิจฉัยให้ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงวินิจฉัยไม่ครบถ้วนตาม ประเด็นพิพาทของคู่ความอันเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควร วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ส.และห. อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดมีสินเดิม ทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส ห.ผู้เป็นภริยามีสิทธิได้รับสินสมรส 1 ใน 3 ส่วน ทายาทโดยธรรมของ ส.มี6คนคือห. และผู้สืบสันดานจึงต้องแบ่งทรัพย์สินออกเป็นมรดกของ ส. จำนวน 2 ใน 3 ส่วนแล้วแบ่งทรัพย์มรดกของ ส. ออกเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายส่าง นางตุ่น เปี่ยมศรีนายส่างได้รับรองโจทก์เป็นบุตร โดยอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและให้ใช้นามสกุล โจทก์จึงเป็นทายาทและมีสิทธิรับมรดกของนายส่างจำนวน 1 ใน 5 ส่วน ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายส่างโอนทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 5 ส่วน หากจำเลยไม่จัดการโอนทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย หากไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกได้ให้นำทรัพย์มรดกขายทอดตลาดแล้วแบ่งให้แก่โจทก์ 1 ใน 5 ส่วนจำเลยให้การว่า นายส่าง เปี่ยมศรี และนางตุ่น เปี่ยมศรีไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์จึงไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายส่าง และนายส่างไม่เคยรับรองโจทก์เป็นบุตร นายส่างมีสิทธิครอบครองที่ดินร่วมกับนางหงิม เปี่ยมศรี ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของนางหงิม 1 ส่วนและเป็นมรดกของนายส่าง1 ส่วน ซึ่งจะต้องแบ่งให้บุตรของนายส่าง 4 คน และนางหงิมอีก 1 คน ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์เป็นทายาทตามลำดับ 1 ของนายส่างและที่ดิน ส.ค.1เลขที่ 86, 80 และ 85 กับที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 154 และ 80ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 และบ้านไม้ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 80 เป็นทรัพย์มรดกของนายส่าง พิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายส่าง เปี่ยมศรี โอนทรัพย์มรดกให้แก่นางอำนวย เปี่ยมศรี โจทก์ในฐานะทายาทลำดับ 1 จำนวน1 ใน 6 ส่วน หากไม่สามารถแบ่งแยกได้ก็ให้นำทรัพย์มรดกขายทอดตลาดแล้วแบ่งให้โจทก์จำนวน 1 ใน 6 ส่วน จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้นางหงิมในฐานะคู่สมรสก่อนกึ่งหนึ่งจึงไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาข้อนี้จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ จำเลยได้ยกขึ้นอุทธรณ์ด้วย แต่ศาลอุทธรณ์ก็มิได้วินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน ดังนี้คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงวินิจฉัยไม่ครบถ้วนตามประเด็นข้อพิพาทของคู่ความอันเป็นการไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ประเด็นข้อนี้ได้ความว่านายส่างและนางหงิมอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 และไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดมีสินเดิม ทรัพย์พิพาทคือที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 และบ้าน 1 หลัง ได้มาระหว่างนายส่างและนางหงิมสมรสกัน ทรัพย์พิพาทดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสนางหงิมมีสิทธิได้รับสินสมรส 1 ใน 3 ส่วน และยังมีสิทธิได้รับมรดกของนายส่างด้วย ดังนั้นมรดกของนายส่างจึงมีเพียง 2 ใน 3 ส่วน ผู้สืบสันดานของนายส่างมี 5 คน และนางหงิม ภรรยาอีก 1 คน ทายาทโดยธรรมที่จะได้รับมรดกของนายส่างจึงมี 6 คืน ซึ่งมีสิทธิได้รับคนละ 1 ส่วนเท่ากัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2ถึง จ.6 พร้อมบ้าน 1 หลัง ออกเป็นมรดกของนายส่างจำนวน2 ใน 3 ส่วนก่อน แล้วแบ่งทรัพย์มรดกของนายส่างดังกล่าวออกเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน ให้โจทก์ได้รับ 1 ส่วน หากไม่สามารถตกลงแบ่งกันได้ก็ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ตามส่วนดังกล่าว

Share