คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1241/2530

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อำนาจในการที่จะวินิจฉัยว่าพยานที่นำมาสืบแล้วเป็น อันเพียงพอยุติได้หรือไม่เป็นอำนาจของศาล เมื่อศาลวินิจฉัย ว่าพยานที่นำสืบมาเพียงพอยุติได้แล้ว การที่จำเลยฎีกาว่า ยังไม่ควรยุติเพราะหากศาลเปิดโอกาสให้จำเลยสืบพยานอีก ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ก็จะกระจ่ายชัดขึ้น ทำให้การวินิจฉัยคดี จะได้รับความยุติธรรม จึงเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาล อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และนับโทษต่อ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 บัญญัติว่า ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ฉะนั้นศาลจึงมีอำนาจงดสืบพยานเสียได้ในเมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังเป็นยุติพอวินิจฉัยแล้ว ตามฎีกาของจำเลยที่ว่าหากศาลเปิดโอกาสให้จำเลยสืบพยานอีก ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ก็จะกระจ่างชัดขึ้น ทำให้การวินิจฉัยคดีจะได้รับความยุติธรรม เห็นว่าอำนาจในการที่จะวินิจฉัยว่าพยานที่นำมาสืบแล้ว เป็นอันเพียงพอยุติได้หรือไม่เป็นอำนาจของศาล เมื่อศาลวินิจฉัยว่าพยานที่นำสืบมาเพียงพอยุติได้แล้ว จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ายังไม่ควรยุติ จึงเป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง คดีของจำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยที่ 2 มาโดยอ้างว่าเป็นฎีกาข้อกฎหมายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2”

Share