แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การขออายัดที่ดินตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 นั้น ให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะอายัดได้ก่อนที่จะมีการเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเท่านั้น ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้ฟ้องร้องผู้จัดการมรดกให้แบ่งทรัพย์ไว้แล้ว สิทธิของโจทก์มีอย่างไรต้องไปดำเนินการทางศาลจะกลับมาขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 อีกไม่ได้.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามอายัดที่ดินจนกว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 16172/2526 และหมายเลขแดงที่ 4065-4067/2523ของศาลแพ่งจะถึงที่สุดหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสามไม่รับคำขออายัดของโจทก์ตามฟ้องไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสาม 600 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 1135, 3570 ตำบลบางทวาย(บางรัก) อำเภอบ้านทวาย(บางรัก) กรุงเทพมหานคร และที่ดินที่แบ่งแยกจากโฉนดดังกล่าวได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฏหมายที่ดิน มาตรา 83 วรรคแรกได้บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากประสงค์จะขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ให้ทำได้วรรคสองได้บัญญัติว่าเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนแล้วเห็นสมควรก็ให้รับอายัดไว้ได้ไม่เกินกำหนดหกสิบวัน โดยให้ผู้นั้นไปดำเนินการทางศาล บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่จะขออายัดที่ดินได้ก่อนมีการเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาความในวรรคสองแล้วจะเห็นได้ว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รับอายัดที่ดินไว้แล้วก็ให้ผู้มีส่วนได้เสียดำเนินการทางศาลต่อไป คดีนี้ได้ความว่าโจทก์ได้ฟ้องร้องบังคับผู้จัดการมรดกให้แบ่งปันทรัพย์มรดกไว้แล้วดังนั้น สิทธิของโจทก์มีอยู่อย่างไรก็ต้องไปดำเนินการทางศาลเท่านั้นโจทก์หาอาจจะกลับมาขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฏหมายที่ดิน มาตรา 83 ได้อีกไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.