คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 156/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาทั้งแปลง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องร้องขอให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่สัญญาที่ก่อนิติสัมพันธ์กันเอง การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 400,000 บาท แต่เพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมน้อยลงจึงแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นการให้แทนการซื้อขายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองนำสืบถึงเจตนาที่แท้จริงของการทำนิติกรรมหรือมูลเหตุที่มาของการทำสัญญาให้ระหว่างจำเลยทั้งสอง แม้สัญญาให้ที่ดินจะระบุว่า จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนเพราะผู้รับการให้เป็นหลานของผู้ให้ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่า การให้ที่ดินพิพาทตามสัญญาให้เป็นการให้ที่ดินโดยมีค่าภาระติดพันได้ กรณีไม่ใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโอนโดยเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองมิได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 72035 ระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72035 เนื้อที่ 1 งาน 45 ตารางวา ให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมเนื้อที่กึ่งหนึ่งจำนวน 72.50 ตารางวา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 จำเลยที่ 2 เป็นหลานของจำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 72035 อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 1 งาน 45 ตารางวา เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2556 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยระบุในสารบัญจดทะเบียนว่าเป็นการยกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน สำหรับปัญหาว่า จำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามไม่ให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นหลานของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องทราบดีว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริต
คดีมีปัญหาวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสองสามารถนำสืบพยานบุคคลว่า หนังสือสัญญาให้ที่ดินแท้จริงแล้ว เป็นนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองจะนำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือสัญญาให้ที่ดิน จากที่ระบุว่าเป็นการยกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนมาเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนหรือเป็นการซื้อขายที่ดินอันเป็นการผิดแผกแตกต่างไปจากข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาให้ที่ดินนั้นไม่ได้ เนื่องจากต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ที่บัญญัติห้ามมิให้จำเลยทั้งสองนำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือสัญญาให้ที่ดินนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์เป็นกรณีขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาทั้งแปลง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องร้องขอให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่สัญญาที่ก่อนิติสัมพันธ์กันเอง การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 400,000 บาท แต่เพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมน้อยลงจึงแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินว่า เป็นการให้แทนการซื้อขายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองนำสืบถึงเจตนาที่แท้จริงของการทำนิติกรรมหรือมูลเหตุที่มาของการทำสัญญาให้ระหว่างจำเลยทั้งสอง แม้สัญญาให้ที่ดินจะระบุในข้อ 5 ว่า จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทน เพราะผู้รับการให้เป็นหลานของผู้ให้ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่า การให้ที่ดินพิพาทตามสัญญาให้เป็นการให้ที่ดินโดยมีค่าภาระติดพันได้ กรณีจึงไม่ใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการโอนโดยเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองมิได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share