คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1556/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ หมายถึงการที่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะคดีไม่มีมูลด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง ๗ ฐานแจ้งความเท็จและทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ
ศาลแขวงพระนครเหนือทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกาสั่งให้รับฎีกาโจทก์ข้อ ๓ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลแขวงวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษาให้ยกฟ้องนั้น เป็นคำวินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้ว ไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยในข้อกฎหมายอย่างใด กล่าวคือ วินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์ที่ปรากฎนั้นมีเค้ามูลในความผิดฐานฉ้อฏองอยู่แล้ว การแจ้งความของจำเลยจึงไม่เป็นความเท็จอย่างไร ส่วนข้อที่ว่ามาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงที่กล่าวถึงคำพิพากษา โจทก์เห็นว่าหมายถึงคำพิพากษาในชั้นพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างนี้หาถูกต้องไม่ เพราะศาลแขวงได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์ในข้อเท็จจริงแล้ว การพิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลอาจทำได้ไม่ว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือในชั้นพิจารณา และในมาตรา ๒๒ ที่อ้างนั้นก็มิได้แบ่งแยกว่าการอุทธรณ์ไม่ได้จะต้องเป็นคำพิพากษาเฉพาะกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งว่าคดีมูลแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ให้ยกเสีย โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share