คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10798/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองประกอบกิจการค้าขายสินค้ากระดาษโดยโจทก์ที่ 1 ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ที่ 2 ถึงร้อยละ 98.39 และต่างเป็นบริษัทในเครือ ป. โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ดังนี้หากจำเลยทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำการจำหน่ายสินค้ากระดาษโดยใช้ข้อความและรูปภาพต่าง ๆ คล้ายของโจทก์ทั้งสองข้างต้นจนทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 2 และทำให้โจทก์ที่ 2 เสียหาย โจทก์ที่ 2 รวมทั้งโจทก์ที่ 1 ย่อมได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ดังนี้ย่อมถือว่าโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิโดยจำเลยทั้งสาม โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ข้อเท็จจริงปรากฏตามห่อสินค้ากระดาษของฝ่ายโจทก์และของจำเลยที่ 1 ด้านหน้าห่อสินค้าของทั้งสองฝ่ายนั้น ของฝ่ายโจทก์ด้านบนมีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ใช้คำว่า “idea” สีแดง และคำว่า “GREEN” สีเขียว ของจำเลยที่ 1ใช้ข้อความในตำแหน่งเดียวกันว่า “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยใช้คำว่า “เป็ดกระดาษ” สีแดง และคำว่า “กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สีเขียว เป็นทำนองเดียวกันกับของฝ่ายโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอักษรโรมันตัว “i” ของโจทก์ที่ 1 ใช้เป็นอักษรประดิษฐ์ ขณะที่ห่อสินค้าของจำเลยที่ 1 ตัวอักษรตัวแรกเป็นสระในอักษรไทย “เ” แต่จำเลยที่ 1 กลับทำให้เหมือนของฝ่ายโจทก์ นอกจากนี้ในส่วนกลางของห่อสินค้าด้านหน้าของจำเลยที่ 1 ยังปรากฏรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสาร ซึ่งคล้ายกันมากกับรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาสินค้ากระดาษของฝ่ายโจทก์ ซึ่งฝ่ายโจทก์โฆษณาภาพยนตร์ดังกล่าวทางโทรทัศน์และจัดรายการส่งเสริมการขายโดยใช้ภาพตามภาพยนตร์ดังกล่าวมาแล้วหลายครั้งก่อนที่จำเลยที่ 1 จะวางจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยใช้ห่อสินค้าดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่เห็นภาพยนตร์โฆษณาของฝ่ายโจทก์ และต่อมาเมื่อเห็นรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสาร ที่ห่อสินค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมอาจเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ดังที่เห็นในภาพยนตร์โฆษณาของฝ่ายโจทก์ ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “เป็ดกระดาษ” ด้วยอักษรสีแดงขนาดใหญ่ที่ส่วนบนของด้านหน้าห่อสินค้าก็อาจทำให้ผู้ที่เห็นโฆษณาทางโทรทัศน์ของฝ่ายโจทก์มาก่อนเข้าใจผิดว่าสินค้ากระดาษที่ใช้ห่อสินค้าดังกล่าวคือสินค้าของฝ่ายโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจใช้ข้อความและรูปต่าง ๆ หลายข้อความหลายรูปและจัดองค์ประกอบภาพในส่วนต่าง ๆ คล้ายกับของฝ่ายโจทก์อันเป็นการกระทำซึ่งมีแต่จะทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้ากระดาษเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ จึงมีเหตุผลให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจใช้ข้อความและรูปภาพต่าง ๆ ที่ห่อสินค้ากระดาษเพื่อให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าใจผิด โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ และไม่รับผิดชอบต่อประชาชนหรือผู้บริโภคที่อาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยไม่สุจริต ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 แล้ว
จำเลยทั้งสามเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ของประเทศเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่ม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมรับรู้และมีส่วนร่วมกับการกระทำของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสินค้ากระดาษ “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” การที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่าย และจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ผู้ผลิต จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยทั้งสาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้ว จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสองส่วนที่จำเลยทั้งสามนำสืบถึงสัญญาตัวแทนจำหน่ายสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และสัญญาจ้างผลิตกระดาษระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ซึ่งมีข้อตกลงทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิใด ๆ ต่อบุคคลภายนอกโดยให้ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ละเมิด และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือรับรู้ถึงการละเมิดดังกล่าวนั้น ไม่มีน้ำหนักและไม่อาจนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าและใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเงินจำนวน 50,000,000 บาท ชดใช้ค่าเสียหายในการจัดทำและเผยแพร่ภาพยนตร์ และวัสดุโฆษณาส่งเสริมการขายกระดาษ “idea GREEN” ชุด “คืนชีวิต สู่ธรรมชาติ” แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 86,748,588 บาท ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการติดตามและรวบรวมหลักฐานการละเมิดของจำเลยทั้งสามให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการขาดประโยชน์จากการขายกระดาษนับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 17,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเสียหายข้างต้น คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 3,490,961.24 บาท ห้ามจำเลยทั้งสามใช้ชื่อ เครื่องหมาย และห่อสินค้า “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ตามคำฟ้อง ให้จำเลยทั้งสามเลิกผลิตและจำหน่ายกระดาษดังกล่าวและเก็บสินค้าทั้งหมดจากผู้จำหน่ายทุกรายในทันที โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายรายวันแก่โจทก์ทั้งสองวันละ 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะดำเนินการดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสามโฆษณาคำขอโทษทางโทรทัศน์สาธารณะและหนังสือพิมพ์ธุรกิจ หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการ ให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์ที่ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 98.39 โจทก์ทั้งสองต่างเป็นบริษัทในเครือของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เอสซีจี” เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทครีเอทีฟ จูซ จีวัน จำกัด ให้เป็นตัวแทนโฆษณามีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาวางแผนกลยุทธ์สร้างยี่ห้อวางแผนการตลาด ออกแบบวัสดุโฆษณาสำหรับสื่อประเภทต่าง ๆ โดยให้ลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิอื่นใดในชิ้นงานทั้งหมดตกเป็นของโจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว วันที่ 3 มีนาคม 2551 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้สิทธิโจทก์ที่ 2 ทำการผลิตและจำหน่ายกระดาษ “idea GREEN” หรือ “ไอเดีย กรีน” ภายใต้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้ารวมทั้งแนวคิดของสินค้าและการออกแบบของโจทก์ที่ 1 ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2551 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า สำหรับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้า กระดาษถ่ายเอกสาร เครื่องหมาย การค้าดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 วันที่ 1 เมษายน 2551 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้า กระดาษพิมพ์หรือเขียน กระดาษถ่ายเอกสาร และกระดาษคราฟต์ ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า วันที่ 12 มิถุนายน 2551 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า สำหรับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้า กระดาษถ่ายเอกสาร เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วภายหลังฟ้อง ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2551 โจทก์ทั้งสองจัดประชุมร้านค้าตัวแทนจำหน่าย หลังจากนั้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 โจทก์ทั้งสองเริ่มนำกระดาษ “idea GREEN” ออกวางจำหน่ายแก่ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปผ่านร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศ เช่น ห้างโลตัส ห้างแม็คโคร ห้างคาร์ฟูร์ และผ่านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ สินค้ากระดาษ “idea GREEN” ของฝ่ายโจทก์เป็นสินค้าประเภทกระดาษถ่ายเอกสาร มีลักษณะตามวัตถุพยาน ต่อมาบริษัทครีเอทีฟ จูซ จีวัน จำกัด ตัวแทนโฆษณาของโจทก์ที่ 1 จัดทำภาพยนตร์โฆษณาส่งเสริมการขายกระดาษ “idea GREEN” ชุด “คืนชีวิต สู่ธรรมชาติ” มีจำนวนทั้งหมด 4 ตอน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของบริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ของประเทศและเป็นเจ้าของส่วนแบ่งการตลาดในกระดาษสำหรับพิมพ์หรือถ่ายเอกสารคุณภาพสูงเกือบทั้งหมด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสินค้ากระดาษ “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” กระดาษดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทกระดาษถ่ายเอกสาร มีลักษณะตามวัตถุพยาน จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดจำหน่าย และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ผลิต
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่อุทธรณ์มาหลายประการนั้น เห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิไม่สุจริตในการจำหน่ายสินค้ากระดาษ “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยทำห่อสินค้าให้ปรากฏข้อความและรูปภาพต่าง ๆ ทั้งด้านหน้าและด้านข้างห่อสินค้าคล้ายกับที่ฝ่ายโจทก์ใช้ที่ห่อสินค้ากระดาษ “idea GREEN” ของฝ่ายโจทก์และรูปภาพที่ฝ่ายโจทก์ใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของฝ่ายโจทก์ จนทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าสินค้ากระดาษของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียหายหรือไม่ ปัญหานี้ในส่วนที่ว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนไปให้ศาลดังกล่าววินิจฉัยและพิพากษาใหม่ ในข้อนี้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติดังกล่าวมาข้างต้นแล้วว่า โจทก์ทั้งสองประกอบกิจการค้าขายสินค้ากระดาษโดยโจทก์ที่ 1 ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ที่ 2 ถึงร้อยละ 98.39 และต่างเป็นบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ดังนี้หากจำเลยทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำการจำหน่ายสินค้ากระดาษโดยใช้ข้อความและรูปภาพต่าง ๆ คล้ายของโจทก์ทั้งสองข้างต้นจนทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 2 และทำให้โจทก์ที่ 2 เสียหาย โจทก์ที่ 2 รวมทั้งโจทก์ที่ 1 ย่อมได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ดังนี้ย่อมถือว่าโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิโดยจำเลยทั้งสาม โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยไม่สุจริตดังกล่าวข้างต้นหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามห่อสินค้ากระดาษของฝ่ายโจทก์และของจำเลยที่ 1 ดังนี้ กล่าวคือ ห่อสินค้ากระดาษ “idea GREEN” ของฝ่ายโจทก์ด้านหน้ามีลักษณะ สันด้านบนมีลักษณะ ด้านซ้าย ขวา และสันด้านล่างมีลักษณะ ส่วนห่อสินค้ากระดาษ “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ของจำเลยที่ 1 ด้านหน้ามีลักษณะ สันด้านบนและด้านล่างมีลักษณะ ด้านซ้ายและขวามีลักษณะ เห็นได้ว่าด้านหน้าห่อสินค้าของทั้งสองฝ่ายนั้น ของฝ่ายโจทก์ด้านบนมีข้อความ ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ใช้คำว่า “idea” สีแดง และคำว่า “GREEN” สีเขียว ของจำเลยที่ 1 ใช้ข้อความในตำแหน่งเดียวกันว่า “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยใช้คำว่า “เป็ดกระดาษ” สีแดง และคำว่า “กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สีเขียว เป็นทำนองเดียวกันกับของฝ่ายโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอักษรโรมันตัว “i” ของโจทก์ที่ 1 ใช้เป็นอักษรประดิษฐ์ ขณะที่ห่อสินค้าของจำเลยที่ 1 ตัวอักษรตัวแรกเป็นสระในอักษรไทย “เ” แต่จำเลยที่ 1 กลับทำให้เป็นรูป เหมือนของฝ่ายโจทก์ ในส่วนมุมล่างด้านซ้ายของฝ่ายโจทก์เป็นรูปต้นไม้ สีเขียว โดยใต้รูปดังกล่าวมีข้อความอักษรโรมันว่า “for a Better Environment” สีดำและข้อความภาษาไทยว่า “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สีดำ ส่วนของจำเลยที่ 1 ก็ใช้รูปต้นไม้ สีเขียว และใต้รูปดังกล่าวมีข้อความอักษรโรมันว่า “Environmentally Friendly Paper” สีดำ และอักษรภาษาไทยว่า “กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สีดำใต้รูป ซึ่งก็มีส่วนคล้ายกันกับของฝ่ายโจทก์ ส่วนที่มุมล่างด้านขวาของฝ่ายโจทก์มีรูปและตัวอักษร สีแดง ของจำเลยที่ 1 ก็มีรูปและตัวอักษร “” สีแดงคล้ายกันอีกเช่นกัน นอกจากนี้ในส่วนกลางของห่อสินค้าด้านหน้าของจำเลยที่ 1 ยังปรากฏรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสาร ซึ่งคล้ายกันมากกับรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสาร อันเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาสินค้ากระดาษของฝ่ายโจทก์ และได้ความตามพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ซึ่งฝ่ายจำเลยไม่โต้แย้งว่า ฝ่ายโจทก์ได้ดำเนินการโฆษณาภาพยนตร์ดังกล่าวทางโทรทัศน์และจัดรายการส่งเสริมการขายโดยใช้ภาพตามภาพยนตร์ดังกล่าวมาแล้วหลายครั้งก่อนที่จำเลยที่ 1 จะวางจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยใช้ห่อสินค้าดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่เห็นภาพยนตร์โฆษณาของฝ่ายโจทก์ที่มีลักษณะเป็นรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสาร และต่อมาเมื่อเห็นรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสาร ที่ห่อสินค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมอาจเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ ดังที่เห็นในภาพยนตร์โฆษณาของฝ่ายโจทก์ ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “เป็ดกระดาษ” ด้วยอักษรสีแดงขนาดใหญ่ที่ส่วนบนของด้านหน้าห่อสินค้าก็อาจทำให้ผู้ที่เห็นโฆษณาทางโทรทัศน์ของฝ่ายโจทก์ดังกล่าวมาก่อนเข้าใจผิดว่าสินค้ากระดาษที่ใช้ห่อสินค้าดังกล่าวคือสินค้าของฝ่ายโจทก์ดังที่โฆษณาไว้นั้น และที่ด้านข้างห่อสินค้าของจำเลยที่ 1 ก็ใช้คำว่า “เป็ดกระดาษ” ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าวได้อีกเช่นกัน พฤติการณ์ดังกล่าวมาข้างต้นเช่นนี้ย่อมทำให้เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 จงใจใช้ข้อความและรูปต่าง ๆ หลายข้อความหลายรูปและจัดองค์ประกอบภาพในส่วนต่าง ๆ คล้ายกับของฝ่ายโจทก์อันเป็นการกระทำซึ่งมีแต่จะทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้ากระดาษเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ จึงมีเหตุผลให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจใช้ข้อความและรูปภาพต่าง ๆ ที่ห่อสินค้ากระดาษเพื่อให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าใจผิด โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ และไม่รับผิดชอบต่อประชาชนหรือผู้บริโภคที่อาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยไม่สุจริต ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 แล้ว แม้ในส่วนเครื่องหมายการค้า และ “” ของโจทก์ที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 จะนำมาทำให้ปรากฏที่ห่อสินค้าซึ่งลำพัง หากพิจารณาเฉพาะแต่ในส่วนเครื่องหมายการค้าโดยลำพังอาจไม่ถึงขนาดคล้ายกันจนถึงกับเป็นเหตุทำให้เกิดการเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ แต่ในภาพรวมของห่อสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่มีการใช้ข้อความและรูปภาพต่าง ๆ หลายส่วนประกอบกันและจัดองค์ประกอบของภาพให้มีลักษณะทำนองเดียวกัน กับมีการใช้ภาพและคำว่า “เป็ดกระดาษ” ก็ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดและหลงเชื่อดังกล่าวข้างต้นได้แล้ว นอกจากนี้ในส่วนที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าฝ่ายจำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าด้วยนั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองใช้ชื่อ “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เป็นชื่อทางการค้าของฝ่ายตน คงได้ความเพียงว่ามีลูกค้าบางส่วนเรียกชื่อดังกล่าวสำหรับสินค้ากระดาษของฝ่ายโจทก์เท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นชื่อทางการค้าของฝ่ายโจทก์ที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าต่อโจทก์ด้วยแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการจำหน่ายสินค้ากระดาษของตนทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าสินค้ากระดาษของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย อันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อมาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดและต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ทำนองว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดโดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้สั่งผลิตและจัดจำหน่าย จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่จำหน่ายให้แก่ร้านค้าปลีก ส่วนจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ผู้ผลิต ในข้อนี้โจทก์ทั้งสองมีนายพุทธพร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า พยานตรวจสอบไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แล้วพบว่า บริษัทจำเลยทั้งสามเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุคดีนี้จนถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2551 กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 4 คน จากทั้งหมด 8 คน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 2 และบริษัทในเครือบริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 เพิ่งเปลี่ยนและลดจำนวนกรรมการลงในวันที่ 22 ธันวาคม 2551 หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเตือนการกระทำละเมิดจากโจทก์ทั้งสองแล้ว ส่วนบริษัทจำเลยที่ 1 มีบริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 999,993 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมดจำนวน 1,000,000 หุ้น และบริษัทจำเลยที่ 3 มีบริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 19,999,940 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมดจำนวน 20,000,000 หุ้น นอกจากนี้จำเลยที่ 1 มีหนี้คงค้างทางการค้ากับบริษัทจำเลยที่ 2 จำนวน 49,710,000 บาท ทั้งที่บริษัทจำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000,000 บาท ส่วนบริษัทจำเลยที่ 2 ก็เป็นหนี้จำเลยที่ 3 อีกทอดเป็นเงิน 86,558,000 บาท เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ถามค้านพยานปากนี้และไม่นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีบริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ของประเทศเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่ม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมรับรู้และมีส่วนร่วมกับการกระทำของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสินค้ากระดาษ “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” การที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่าย และจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ผู้ผลิตจึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยทั้งสาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ส่วนที่จำเลยทั้งสามนำสืบถึงสัญญาตัวแทนจำหน่ายสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และสัญญาจ้างผลิตกระดาษระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ซึ่งมีข้อตกลงทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิใด ๆ ต่อบุคคลภายนอกโดยให้ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ละเมิด และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือรับรู้ถึงการละเมิดดังกล่าวนั้นไม่มีน้ำหนักและไม่อาจนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประการนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพียงใด โดยในข้อที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าและจากการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเงินจำนวน 50,000,000 บาท กับชดใช้ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการติดตามและรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และค่าเสียหายเนื่องจากการขาดประโยชน์จากการขายกระดาษ “idea GREEN” นับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 17,500,000 บาท เห็นว่า ในส่วนที่โจทก์ที่ 1 เรียกค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์โฆษณาซึ่งรวมไปถึงงานจิตรกรรมด้วยนั้น งานดังกล่าวมีลักษณะที่ใช้หาประโยชน์ได้เพียงการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายสินค้ากระดาษของโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่ามีการใช้ประโยชน์จากงานดังกล่าวในทางอื่น ดังนั้น ความเสียหายของโจทก์ทั้งสองตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์และรวมทั้งละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าย่อมมีแต่เฉพาะค่าเสียหายเกี่ยวกับการขายสินค้ากระดาษของโจทก์ทั้งสองเท่านั้น ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 จึงสมควรพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้เฉพาะกรณีที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองโดยร่วมกันใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองอันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ซึ่งความเสียหายดังกล่าว โจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าความเสียหายจำนวนตามที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องมาตามคำฟ้องนั้น มีหลักเกณฑ์ ที่มา และคำนวณจากฐานอะไร โจทก์ทั้งสองมีเพียงนายพุทธพร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวเป็นการชดเชยและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าขายโดยสุจริตของโจทก์ทั้งสองที่ต้องเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามและเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากยอดขายกระดาษ “idea GREEN” ของโจทก์ทั้งสองที่ลดต่ำลงเนื่องจากมีกระดาษ “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ของจำเลยทั้งสามมาขายแข่ง เท่านั้น จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเสียหายเป็นจำนวนเงินตามที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องตามคำฟ้อง แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายในส่วนนี้ เนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายพุทธพรพยานโจทก์ซึ่งเบิกความรับรองประมาณการค่าเสียหายการขายกระดาษ “idea GREEN” แล้ว ปรากฏว่าขนาดตลาดกระดาษสำหรับพิมพ์หรือถ่ายเอกสารคุณภาพสูงในปี 2551 เป็นเงินถึง 2,136,000,000 บาท และในปี 2552 ถึงปี 2556 เป็นเงิน 2,350,000,000 บาท 2,632,000,000 บาท 3,026,000,000 บาท 3,480,000,000 บาท และ 4,002,000,000 บาท ตามลำดับ และในปี 2551 และ 2552 ส่วนแบ่งการตลาดของโจทก์ทั้งสองคิดเป็นร้อยละ 10 และร้อยละ 30 คิดเป็นเงิน 214,000,000 บาท และ 705,000,000 บาท ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลาดกระดาษพิมพ์หรือถ่ายเอกสารคุณภาพสูงมีมูลค่าสูงคิดเป็นเงินนับพันล้านบาทต่อปี ทั้งยังปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความรับรู้ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับสินค้าใหม่ของโจทก์ทั้งสองซึ่งคือกระดาษ “idea GREEN” ที่มีตัวเป็ดกระดาษเป็นตัวละครสำคัญ ซึ่งก็ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสาธารณชนดังที่ปรากฏในรายงานความคิดเห็นของผู้บริโภคกระดาษ “A4” ที่มีต่อตราสินค้า แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามกลับฉกฉวยผลจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์ทั้งสองไปใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสาม ซึ่งผลจากการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสามย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าของโจทก์ทั้งสอง เพราะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือในคุณภาพสินค้าของโจทก์ทั้งสอง และยังทำให้อัตราการขยายตัวของสินค้าดังกล่าวของโจทก์ลดลงไม่เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทั้งสองแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 20,000,000 บาท
ข้อที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามจำหน่ายสินค้า “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ที่มีลักษณะตามคำฟ้องหรือวัตถุพยานนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่จำเลยทั้งสามใช้ห่อสินค้ากระดาษ “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองอันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ศาลย่อมมีอำนาจบังคับให้ตามขอ
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามใช้ห่อสินค้า “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ตามคำฟ้องหรือวัตถุพยาน และให้จำเลยทั้งสามเลิกผลิตกระดาษดังกล่าวและเก็บสินค้าทั้งหมดจากผู้จำหน่ายทุกรายในทันที กับรับผิดชดใช้ค่าเสียหายรายวันแก่โจทก์ทั้งสองวันละ 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะดำเนินการดังกล่าวนั้น เห็นว่า เมื่อได้ห้ามจำเลยทั้งสามจำหน่ายสินค้ากระดาษ “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ที่มีลักษณะห่อสินค้า แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่อาจผลิตและใช้สินค้าที่มีลักษณะดังกล่าวได้อีกต่อไป คำขอดังกล่าวมุ่งบังคับการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าค่าเสียหายรายวัน ที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องมานั้นเป็นค่าเสียหายจากความเสียหายใด มีวิธีการคำนวณอย่างไร จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้ออื่นนอกจากที่วินิจฉัยมาแล้วนี้ ถึงวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 อันเป็นวันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสามจำหน่ายสินค้ากระดาษที่ใช้ห่อสินค้า “เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ที่มีลักษณะตามคำฟ้องหรือวัตถุพยาน ส่วนคำขออื่นให้ยก ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 300,000 บาท

Share