แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษให้แก่จำเลยจนถึงวันที่จำเลยกระทำความผิดในคดีหลัง เพื่อนำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 หาใช่เป็นการติดต่อราชการตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/4 ไม่ การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2542 จะต้องไปครบ 1 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลา 24 นาฬิกาอันเป็นการนับวันเวลาตามปกตินั่นเอง จำเลยกระทำผิดในวันที่ 20มีนาคม 2543 เวลา19.45 นาฬิกา จึงบวกโทษจำคุกในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 290 เม็ด น้ำหนัก 25.281กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 5.135 กรัม ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก่อนคดีนี้จำเลยต้องพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 15 วัน ปรับ 300 บาท ฐานเสพกัญชาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1789/2542 ของศาลชั้นต้น โดยโทษจำคุกรอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2542 ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษดังกล่าวจำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1789/2542 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 10 ปี บวกโทษจำคุก 15 วันที่รอการลงโทษไว้ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1789/2542 ของศาลชั้นต้น เป็นจำคุก10 ปี 15 วัน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในประการสุดท้ายว่าศาลจะนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกกับโทษจำคุกในคดีนี้ไม่ได้ เพราะจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลา 19.45 นาฬิกา การนับระยะเวลาหนึ่งปีจากคดีที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษไว้ต้องนับถึงวันที่ 20 มีนาคม 2543เวลา 16.30 นาฬิกา อันเป็นวันเวลาทางราชการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/4 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/4 บัญญัติว่า “ในทางคดีความ ในทางราชการ หรือทางธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม วัน หมายความว่า เวลาทำการตามที่ได้กำหนดขึ้น โดยกฎหมาย คำสั่งศาล หรือระเบียบข้อบังคับ หรือเวลาทำการตามปกติของกิจการนั้น แล้วแต่กรณี” หมายถึงในการต้องติดต่อราชการเช่นการฟ้องคดี การยื่นคำร้องคำขอต่อศาลก็ต้องทำภายในเวลา 16.30 นาฬิกา หรือทำธุรกรรมในทางธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม พึงต้องทำในวันเวลาทำการตามปกติที่กำหนดไว้ของกิจการนั้นเช่นเดียวกัน แต่การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษให้แก่จำเลยจนถึงวันที่จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ เพื่อนำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58หาใช่เป็นการติดต่อราชการตามนัยมาตรา 193/4 ไม่ การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 20มีนาคม 2542 จะต้องไม่ครบ 1 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลา 24 นาฬิกา อันเป็นการนับวันเวลาตามปกตินั่นเอง ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์บวกโทษจำคุกในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้ชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มาตรา 15 วรรคสาม(2) ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า เมทแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย คดีนี้จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 290 เม็ด น้ำหนัก 25.281 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 5.135 กรัม ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเดิมมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท กรณีโทษจำคุกต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์