แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นจับกุมจำเลยได้บอกจำเลยว่า หากมีเมทแอมเฟตามีนอยู่อีกให้นำมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจ จะได้รับโทษเบาลงและได้เกลี้ยกล่อมจำเลยว่าหากมีสิ่งผิดกฎหมายก็ให้เอาออกมาเสีย จากนั้นจำเลยได้พาไปที่ต้นมะขามล้วงเข้าไปในโพรงต้นมะขาม นำถุงพลาสติกบรรจุเม็ดยามาให้ ดังนี้เป็นการพูดในขณะที่ปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อให้ได้มาซึ่งของผิดกฎหมายที่อยู่ในครอบครองของจำเลย แม้คำพูดนั้นจะเป็นการพูดจูงใจในทำนองว่าจำเลยจะได้รับโทษเบาลง ก็ไม่ถึงขั้นให้สัญญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 มิใช่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2537 เวลากลางวัน จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 150 เม็ด น้ำหนักรวม11.850 กรัม ซึ่งเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครอง แล้วจำเลยได้ขายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ให้แก่ผู้มีชื่อในราคาเม็ดละ 25 บาท รวมเป็นเงิน250 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมเมทแอมเฟตามีน จำนวน150 เม็ด และเงิน 250 บาท ซึ่งเป็นของเจ้าพนักงานที่ใช้ในการล่อซื้อเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 32 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, (7 ทวิ), 11(4), 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106ทวิ, 116 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51 (พ.ศ. 2531) ฉบับที่ 71 (พ.ศ. 2534)และฉบับที่ 81 (พ.ศ. 2535) เรื่องระบุและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2536) เรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 กับริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ จำคุก5 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี4 เดือน ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ค้นพบเมทแอมเฟตามีนและเงินล่อซื้อได้ที่ตัวจำเลย ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมก็มิได้เห็นการล่อซื้อและมิได้นำผู้ล่อซื้อมาสืบนั้น เห็นว่า โจทก์มีร้อยตำรวจเอกเฉลียว สุดแสงจ่าสิบตำรวจเสรี อ่วมประเสริฐ มาเบิกความว่าก่อนที่จะจับกุมจำเลยพยานได้สืบสวนและทราบว่าจำเลยมีพฤติการณ์ขายเมทแอมเฟตามีน จึงได้วางแผนให้สายลับไปล่อซื้อ โดยได้ดำเนินการนำธนบัตรที่จะใช้ล่อซื้อถ่ายเอกสารและลงประจำวันไว้ก่อนที่จะมอบธนบัตรให้สายลับไปดำเนินการ สายลับไปทำการล่อซื้อประมาณ 5 นาที ก็ได้นำเมทแอมเฟตามีนมามอบให้ 10 เม็ด และบอกว่าซื้อมาในราคาเม็ดละ 25 บาท พยานกับพวกก็ได้เข้าไปตรวจค้นบ้านจำเลยทันที พบเมทแอมเฟตามีนที่ใต้สุ่มไก่ 10 เม็ด เงินที่ใช้ล่อซื้อซึ่งอยู่ในกางเกงวอร์มที่แขวนอยู่บนราวผ้าในบ้าน และจำเลยได้นำนายดาบตำรวจหญิงบุญส่ง อยู่ฉิม ไปเอาเมทแอมเฟตามีนซึ่งอยู่ข้างบ้านอีกจำนวน 130 เม็ด การที่พยานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้สืบสวนจนได้ทราบพฤติการณ์จำเลยเกี่ยวข้องกับการขายเมทแอมเฟตามีน จึงได้ล่อซื้อแม้พยานจะไม่เห็นการล่อซื้อ แต่พยานกับพวกก็ได้เข้าตรวจค้นทันทีภายหลังจากการทราบว่ามีการล่อซื้อในเวลาเพียง 5 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่กระชั้นชิดกับการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจึงน่าเชื่อว่ามีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้จากจำเลยจริง เมื่อพยานเข้าค้นภายหลังการล่อซื้อก็พบเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งในสุ่มไก่ซึ่งเป็นของสามีจำเลยและค้นพบเงินในกระเป๋ากางเกงวอร์ม ซึ่งแขวนอยู่และจำเลยก็รับว่าเป็นกางเกงที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยเพราะจำเลยมีอาชีพรับจ้างซักผ้า นอกจากนี้จำเลยยังพาเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาเมทแอมเฟตามีนซึ่งซ่อนอยู่ที่บริเวณต้นมะขามและอยู่ห่างจากบ้านที่จำเลยพักอาศัยได้อีกจำนวนหนึ่ง พฤติการณ์แห่งคดีส่อให้เห็นว่าจำเลยเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว แม้จำเลยจะอ้างว่าเมทแอมเฟตามีนและเงินที่ได้จากการค้นนั้นไม่ได้จากตัวจำเลยก็หาทำให้จำเลยพ้นจากความผิดได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้พูดจูงใจว่าจำเลยจะได้รับโทษเบาลง หากมีเมทแอมเฟตามีนอยู่อีกให้นำมามอบให้จำเลยเชื่อว่าจะได้รับโทษน้อยลงจึงไปเอาเมทแอมเฟตามีนของผู้อื่นซึ่งอยู่ที่ต้นมะขามติดทางเดินและมิใช่บริเวณบ้านจำเลยมามอบให้ การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น โจทก์มีจ่าสิบตำรวจเสรี อ่วมประเสริฐ ซึ่งเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ทางเจ้าพนักงานตำรวจได้บอกจำเลยว่าหากมีเมทแอมเฟตามีนอยู่อีกให้นำมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจ จะได้รับโทษเบาลงและโจทก์มีนายดาบตำรวจหญิงบุญส่ง อยู่ฉิม เบิกความว่า ได้ตรวจค้นภายในตัวจำเลย ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ได้เกลี้ยกล่อมจำเลยว่าหากมีสิ่งผิดกฎหมายก็ให้เอาออกมาเสีย จำเลยบอกว่ามีเมทแอมเฟตามีนอยู่ แต่หากจะไปเอาจะต้องให้พยานไปเพียงคนเดียว จากนั้นจำเลยได้พาพยานไปที่ต้นมะขามห่างจากบ้านจำเลยประมาณ 20 วา จำเลยล้วงเข้าไปในโพรงต้นมะขามนำถุงพลาสติกบรรจุเม็ดยามาไว้ในมือพยาน เห็นว่า คำพูดของจ่าสิบตำรวจเสรีก็ดี คำพูดของนายดาบตำรวจหญิงบุญส่งก็ดี เป็นการพูดในขณะที่ปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อให้ได้มาซึ่งของผิดกฎหมายที่อยู่ในครอบครองของจำเลย แม้คำพูดนั้นจะเป็นการพูดจูงใจในทำนองว่าจำเลยจะได้รับโทษเบาลงก็ไม่ถึงขั้นให้สัญญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 การกระทำดังกล่าวของเจ้าพนักงานตำรวจหาใช่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้เช่นนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน