คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542-1543/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นสำนวนเดียวกัน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นสำนวนใหม่ ต่อมาคู่ความฎีกาทั้งสองสำนวน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าคดีทั้งสองสำนวนนี้เกี่ยวพันกัน ย่อมให้รวมการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันได้เพื่อสะดวกแก่การพิจารณา
จำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างรายวันทำงานอยู่ที่แผนกเภสัชกรรมของโรงพยาบาลเดียวกันจำเลยที่ 1 มีหน้าที่คิดราคายา และเขียนราคายาลงในใบสั่งยาจำหน่ายยาให้คนไข้ เมื่อเจ้าหน้าที่ออกใบเสร็จรับเงินแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่มอบใบเสร็จรับเงินและยาให้แก่คนไข้ และมีหน้าที่ควบคุมดูแลการออกใบเสร็จรับเงินและสำเนาให้ตรงตามใบสั่งยา เมื่อรับเงินค่าจำหน่ายยาแล้ว จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เก็บรักษาไว้เพื่อส่งให้แก่เจ้าหน้าที่การเงิน เวลาจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ ถ้าจำเลยที่ 1ช่วยเขียนใบเสร็จรับเงินก็ต้องมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2กลับมา จำเลยทั้งสองร่วมกันทำสำเนาใบเสร็จรับเงินโดยลงจำนวนเงินราคายาน้อยกว่าราคาที่จำหน่ายไปจริง แล้วร่วมกันยักยอกเอาเงินที่เกินกว่าจำนวนในสำเนาใบเสร็จ ดังนี้ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น เพราะจำเลยที่ 1 มิได้มีหน้าที่รักษาเงิน ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น แม้จะรับสารภาพตามฟ้องว่ากระทำผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเงินซึ่งมีหน้าที่รักษาไว้ แต่เมื่อรวมการพิจารณาแล้ว ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีหน้าที่รักษาเงินจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามมาตรา 352 เท่านั้นเหมือนกัน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองรวมกันมาในสำนวนเดียวกัน จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นสำนวนใหม่ในชั้นศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าคดีทั้งสองสำนวนนี้เกี่ยวพันกัน เพื่อสะดวกแก่การพิจารณา จึงให้รวมการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนนี้เข้าด้วยกัน
โจทก์ฟ้องมีใจความเหมือนกันทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานโดยทุจริตได้บังอาจร่วมกับจำเลยที่ ๒ ยักยอกเอาเงินค่าจำหน่ายยา ซึ่งจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบดูแลรักษารวม ๔๒๔ ราย เป็นเงิน ๒๙,๔๑๕ บาท ทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมการแพทย์และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการแพทย์ และการกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ ๑ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๑, ๑๕๗, ๓๕๒, ๘๓, ๘๖ ให้จำเลยร่วมกันใช้เงิน ๒๙,๔๑๕ บาทแก่กรมการแพทย์ กับให้นับโทษต่อจากคดีอาญาแดงที่ ๑๕๒๙/๒๕๑๔
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษตามมาตรา ๑๔๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ กระทงเดียว จำคุก ๒ ปี ๖ เดือน ให้นับโทษต่อจากคดีแดงที่ ๑๕๒๙/๒๕๑๔ กับให้คืนหรือใช้เงิน ๒๙,๔๑๕ บาทแก่กรมการแพทย์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๓๕๒, ๘๓ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๗ ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา ๙๑ ประกอบด้วยมาตรา ๓ ให้จำคุก ๖ ปี ลดโทษ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๔ ปีให้ใช้เงิน ๑๔,๘๙๕ บาท แก่กรมการแพทย์ คำขอให้นับโทษต่อให้ยกเสีย เพราะเป็นความผิดต่อเนื่องกัน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์แต่ละสำนวน โจทก์อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ ๑
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเฉพาะจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ พิพากษาแก้ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒จำคุก ๑ ปี ๖ เดือนลดโทษกึ่งหนึ่งตาม มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๙ เดือน โทษจำคุกรอไว้ ๓ ปี คำขอนับโทษต่อให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่นั่งพิจารณาคดีอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ส่วนโจทก์ฎีกาเฉพาะจำเลยที่ ๒
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างยักยอกเอาเงินค่าจำหน่ายยาไปจริงแล้ววินิจฉัยในปัญหาว่า จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ในการเก็บรักษาเงินร่วมกับจำเลยที่ ๒ หรือไม่ว่า จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่คิดราคายา และเขียนราคายาลงในใบสั่งยาจำหน่ายยาให้แก่คนไข้ เมื่อเจ้าหน้าที่ออกใบเสร็จรับเงินแล้ว จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่มอบใบเสร็จรับเงินและยาให้แก่คนไข้ และมีหน้าที่ดูแลควบคุมการออกใบเสร็จรับเงินค่าจำหน่ายยา การลงจำนวนเงินในใบเสร็จรับเงินและสำเนาใบเสร็จรับเงินให้ตรงตามใบสั่งยา เมื่อรับเงินค่าจำหน่ายยาแล้วจำเลยที่ ๒มีหน้าที่เก็บรักษาเงินไว้เพื่อส่งให้แก่เจ้าหน้าที่การเงิน ในกรณีจำเลยที่ ๒ ไม่อยู่ ถ้าจำเลยที่ ๑ ช่วยเขียนใบเสร็จรับเงิน เมื่อจำเลยที่ ๒กลับมา ก็ต้องมอบเงินให้จำเลยที่ ๒ ไป จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่เก็บรักษาเงิน จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ ๒ แม้จะให้การรับสารภาพก็ตามแต่ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยที่ ๑ มิได้มีหน้าที่เก็บรักษาเงิน จำเลยที่ ๒ซึ่งมีหน้าที่เก็บรักษาเงินเป็นเพียงลูกจ้างของกรมการแพทย์ มิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยที่ ๒ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๒ เท่านั้น
ที่ฎีกาว่าเป็นฟ้องซ้ำนั้น เห็นว่า เป็นคนละกรรมกับคดีนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ ๑ เป็นว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๘๓ ให้จำคุก ๑ ปี ๖ เดือนลดตามมาตรา ๗๘ แล้วเหลือ ๑ ปีให้รอการลงโทษไว้ ๓ ปี กับให้จำเลยทั้งสองใช้เงิน ๑๔,๘๙๕ บาทแก่กรมการแพทย์ด้วย

Share