แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การตีความประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 207 (1) จะต้องตีความอย่างจำกัด อนุมาตรานี้บัญญัติท้าวถึงกรณีตามมาตรา 204 เมื่อมาตรา 204 ถูกยกเลิกไปแล้ว ผลก็เป็นเสมือนว่ามาตรา 207(1) ถูกยกเลิกไปด้วยโดยปริยาย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่และยังติดใจขอให้ไต่สวนคำร้องอยู่ ศาลพึงไต่สวนพยานให้สิ้นกระแสความเสียหาย จะพิจารณาพฤติการณ์ต่าง ๆ ตามสำนวนแล้วฟังว่าจำเลยจงใจขาดนัดและไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การหรือยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามนัยมาตรา 205 (3) แล้วสั่งยกคำร้องเสียดังนี้ หาชอบไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกที่นา ขอให้ขับไล่และใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๒,๓,๔ ให้การต่อสู้คดี แต่ จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลยทั้ง ๔ และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๒,๓,๔ ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน อ่านคำพิพากษาเมื่อ ๖ สิงหาคม ๒๕๐๕
ครั้นวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องว่า ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ไปทำงานอยู่ที่สวนยางที่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ห่างไกลทางคมนาคม มารดาก็ไม่ทราบที่อยู่ จำเลยที่ ๑ จึงขาดนัด โดยไม่ได้ตั้งใจ จำเลยที่ ๑ มีหลักฐานการซื้อที่พิพาทจากโจทก์และได้ครอบครองมาในฐานะเจ้าของ กับได้มอบให้มารดาครอบครองแทนตลอดมา ขอให้สั่งให้จำเลยที่ ๑ ยื่นคำให้การต่อสู้คดี และให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
(เจ้าหน้าที่รายงานว่า นำคำบังคับไปส่งให้จำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๕ แต่ไม่พบตัวจำเลยและไม่มีใครรับแทน)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๐๗ (๑) ให้ยกคำร้อง โดยมิได้ไต่สวนคำร้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา ๒๐๗ เป็นบทวางหลักทั่วไปว่า คู่ความฝ่ายใดซึ่งศาลแสดงว่าขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาท คู่ความฝ่ายนั้นอาจมีคำขอให้มีการพิจารณาใหม่ได้ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีจะต้องด้วยข้อยกเว้นอย่างหนึ่งอย่างใดในอนุมาตรา (๑)(๒) หรือ (๓) จึงจะขอไม่ได้ ดังนั้น การตีความตามอนุมาตรา (๑) จึงเป็นการตีความในข้อยกเว้นและในบทบัญญัติที่ตัดสิทธิบุคคลหนึ่งซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้ขาดนัดพิจารณาจึงต้องตีความอย่างจำกัด มาตรา ๒๓๗(๑) บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้จำเลยหลายคนแพ้คดีดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๔ ” เมื่อมาตรา ๒๐๔ ถูกยกเลิกไปแล้ว ผลก็เสมือนว่ามาตรา ๒๐๗ (๑) ถูกยกเลิกไปด้วยโดยปริยาย ดังนั้น มาตรา ๒๐๗ (๑) จึงไม่เป็นข้อห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ มีคำขอให้พิจารณาใหม่
และที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ ๑ จงใจขาดนัด และไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ยื่นคำให้การหรือยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่ ตามนัยมาตรา ๒๐๕ (๓) แม้จะเป็นการฟังจากพฤติการณ์ต่าง ๆ ตามสำนวนก็ดี แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ ๑ โดยมิได้ไต่สวนพยาน(ใน) เมื่อจำเลยยังติดใจขอให้ไต่สวนอยู่เช่นนี้ ก็ชื่อว่ายังมิได้ไต่สวนพยานให้สิ้นกระแสความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ที่ว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ควรฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นก่อนที่จะได้ไต่สวนจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของจำเลยที่ ๑ ไว้ดำเนินการไต่สวน แล้วสั่งใหม่