แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บุคคลที่จะพ้นจากความผิดตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 94 ที่แก้ไขใหม่ จะต้องเป็นเรื่องที่ผู้นั้นสมัครใจขอเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลก่อนที่ความผิดจะปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จำเลยอ้างว่าจำเลยสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลของรัฐในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงเลยขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ย่อมทำให้จำเลยไม่พ้นจากความผิด กรณีที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษโดยสรุปว่า จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยอายุยังน้อย จำเลยสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาและเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ เป็นการฎีกาดุลพินิจในการลงโทษจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้โดยปรับบทตามกฎหมายที่แก้ไขเป็นกรณีแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ คงรับสารภาพแต่เพียงว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางคืนเงิน 2,000 บาท ให้แก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) ริบพวงกุญแจของกลาง ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า กฎหมายที่แก้ไขตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 91, 94 มีผลให้จำเลยพ้นจากความผิดหรือไม่ เห็นว่า บุคคลที่จะพ้นจากความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 94 ที่แก้ไขใหม่ จะต้องเป็นเรื่องที่ผู้นั้นสมัครใจขอเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลก่อนที่ความผิดจะปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามฎีกาจำเลยอ้างว่าจำเลยสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลของรัฐในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเลยขั้นตอนของกฎหมายแล้วย่อมทำให้จำเลยไม่พ้นจากความผิด ฎีกาของจำเลยในประการนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษโดยสรุปว่า จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจำเลยอายุยังน้อย จำเลยสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา และเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ เห็นว่า เป็นฎีกาดุลพินิจ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้โดยปรับบทตามกฎหมายที่แก้ไข เป็นกรณีแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาประเด็นนี้ของจำเลย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน