คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปในห้องซึ่งมีทรัพย์ของคนหลายคนหลายเจ้าของ แล้วลักเอาทรัพย์ของคนหลายคนนั้นไปในคราวเดียวกัน ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวไม่ใช่แยกเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ของเจ้าของคนหนึ่งและศาลลงโทษจำเลยไปแล้วโจทก์จะกลับมาฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์ในคราวเดียวกันนั้นของคนอื่นๆ อีกไม่ได้ ถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยงัดตู้ใส่เสื้อผ้าแล้วลักเอาปากกาและดินสอเชฟเฟอร์ ๑ ชุด กับแว่นตาไซด์ ๑ อัน ของนายจิ๋น แซ่พู่ ไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๓)
จำเลยรับว่าลักทรัพย์ไปจริงแต่ในวันเวลาและสถานที่เดียวกันนั้นจำเลยได้ลักทรัพย์ของนายกังฟัด นายตึ๋ง ซึ่งอยู่ในห้องเดียวกันและจำเลยถูกฟ้องศาลลงโทษไปแล้ว การลักทรัพย์รายนี้เป็นกรรมเดียว วาระเดียวกัน จึงไม่ต้องรับผิดในคดีนี้อีก
โจทก์แถลงรับว่า จำเลยถูกฟ้องหาว่าลักทรัพย์นายกังฟัง นายตึ๋ง ศาลพิพากษาไปแล้วจริง จำเลยเข้าไปลักทรัพย์ในคดีนั้นกับคดีนี้คราวเดียวกัน ทรัพย์เก็บอยู่ในห้องเดียวกัน จำเลยลักทรัพย์ของนายตึ๋งซึ่งแขวนไว้ และงัดตู้ไม้ของนายจิ๋น ลักทรัพย์ในตู้ไป
จำเลยแถลงรับว่า เป็นจริงตามโจทก์แถลง
ศาลอาญาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียววาระเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยเข้าไปลักทรัพย์ในห้องซึ่งมีทรัพย์ของคนหลายคนหลายเจ้าของ ในคราวเดียวกัน และเก็บเอาทรัพย์ของคนหลายคนไปเป็นการกระทำกรรมเดียว ไม่ใช่แยกเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ในคราวเดียวกันนี้ และศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว โจทก์จะกลับมาฟ้องจำเลยในความผิดอันเป็นกรรมเดียวกันนั้นอีกหาได้ไม่ สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๔ (๔)
พิพากษายืน

Share