แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกระทำความผิดฐานซื้อสุราจากผู้ที่ไม่มีสิทธิขาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 40 ทวิ แต่ตามมาตรา 45 มิได้บัญญัติ ให้ริบ สุราของกลางจากการกระทำความผิดฐานดังกล่าวไว้ อีกทั้งสุรา ของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด หรือได้มา โดย การกระทำความผิดอันจะริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33 กรณี จึงไม่อาจริบสุราของกลางได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุรา ได้ซื้อสุราจากผู้ไม่มีสิทธิขายโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 40 ทวิ, 45 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33และริบของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 40 ทวิ ลงโทษปรับ 200 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และริบสุราของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบสุราของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายสุราได้ซื้อสุราของกลางไว้จากผู้ที่ไม่มีสิทธิขายโดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 40 ทวิ นั้น สุราของกลางเป็นสิ่งของที่จะต้องริบ ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 45และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 45 มิได้บัญญัติให้ริบสุราที่มีการซื้อโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 40 ทวิ และเป็นที่เห็นได้ว่ามิได้มีความประสงค์ที่จะให้ริบสุราที่มีการซื้อฝ่าฝืนต่อกฎหมายในกรณีเช่นนี้แต่อย่างใด ทั้งสุราของกลางรายนี้ก็มิได้ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดอันจะเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาให้ริบเสียได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ริบของกลางจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.