คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 853/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ว่าจำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองก็ตาม ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงนั้น เพราะในการพิจารณา คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิด ทั้งโจทก์ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางยืนยัน และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอาวุธปืนดังกล่าวไม่มีหมายเลขทะเบียนตามที่โจทก์ฟ้องจึงลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 288พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคมพ.ศ. 2519 ข้อ 3, 6, 7 ริบของกลาง และนับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 120/2529 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 120/2529 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 20 ปี ฐานพกอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเหตุอันสมควรตามความจำเป็นแห่งพฤติการณ์ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสอง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519ข้อ 3, 7 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 20 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยกของกลางริบและให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่120/2529 ของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนสั้นไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ข้อ 6 ให้จำคุกจำเลยอีก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมติของที่ประชุมใหญ่ว่า “…ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยมิได้รับอนุญาตนั้นศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้จะได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ว่าจำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองก็ตาม ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงนั้น เพราะในการพิจารณาคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิด ทั้งโจทก์ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางยืนยัน และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอาวุธปืนดังกล่าวไม่มีหมายเลขทะเบียนตามที่โจทก์ฟ้อง จึงลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้…ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดของจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ โดยมิได้ระบุวรรคนั้นเห็นสมควรระบุวรรคเสียให้ชัดแจ้งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก, 72 ทวิวรรคสอง ให้ยกฟ้องความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share