แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง 3 คดี โดยแต่ละคดีได้เรียกร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนหนี้ที่ดินและโรงงานพร้อมเครื่องจักร แม้บางคดีจะได้กล่าวหาจำเลยในมูลละเมิดและให้มีการชดใช้ค่าเสียหายมาด้วย แต่วัตถุประสงค์หลักก็คือ ให้เพิกถอนการโอนสินทรัพย์กลับคืนมาทั้งสิ้น จึงไม่ต่างกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของติดตามเอาคืนทรัพย์สินเครื่องจักรบางรายการ โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อมาเก็บไว้ในโรงงานไม่เกี่ยวกับหนี้ใด ๆ ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบความจริงและขอให้ส่งมอบคืนในคดีก่อนได้อยู่แล้ว การมาฟ้องเรียกร้องเครื่องจักรคืนในคดีนี้อีกจึงสืบเนื่องมาจากคดีก่อนที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ย่อมถือว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบเครื่องจักรตามฟ้องพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบคืนให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 3,713,684,704.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยส่งมอบเครื่องจักรลำดับที่ 237 และ 238 ตามรายงานการประเมินราคาทรัพย์สินคืนแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงิน ส่วนโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการโรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์ โดยมีโรงงานตั้งอยู่บนที่ดิน 3 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 1700 เลขที่ 1702 และเลขที่ 1994 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้นำไปจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ต่อมาจำเลยได้รับโอนหนี้ทั้งหมดของโจทก์ ในฐานเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ จึงได้มีการบังคับจำนองที่ดินทั้งสามแปลงโดยนำออกขายทอดตลาดแต่ไม่มีผู้มาประมูลซื้อ จำเลยจึงรับโอนสินทรัพย์ทั้งหมดไว้ตามสิทธิ โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยส่งมอบเครื่องจักร 3 รายการ อ้างว่าตั้งอยู่ในโรงงานที่จำเลยรับโอน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อกฎหมายซึ่งเป็นประเด็นสาระสำคัญว่า ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1538/2551 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2463/2551 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3331/2551 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่น…” ทั้งนี้โดยมุ่งหมายว่า คดีเรื่องเดียวกันควรมีการฟ้องร้องว่ากล่าวกันเสียให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน ส่วนคดีใดจะเป็นคดีเดียวกันหรือไม่อย่างไร ต้องพิจารณาจากคำฟ้องในคดีนั้น ๆ ว่า เป็นคดีที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างเดียวกันหรือไม่ สำหรับคดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกฟ้องเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ขอให้เพิกถอนการโอนสิทธิจำนอง การรับโอนกรรมสิทธิ์และเรียกค่าเสียหาย เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1538/2551 ครั้งที่ 2 ฟ้องเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำละเมิดขอให้เพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องและเรียกค่าเสียหาย เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2463/2551 และครั้งที่ 3 ฟ้องเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ขอให้เพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องและเรียกค่าเสียหาย เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3331/2551 ซึ่งทั้งสามคดีล้วนมีมูลเหตุจากเรื่องที่จำเลยได้รับโอนหนี้ของโจทก์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากธนาคารเจ้าหนี้เดิมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2544 ยังผลให้สิทธิเรียกร้องหรือภาระผูกพันที่ธนาคารเจ้าหนี้เดิมมีต่อลูกหนี้คือโจทก์โอนมาเป็นของจำเลยด้วย อันรวมถึงหลักประกันแห่งหนี้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 1700 ตำบลบางหวายใต้ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ดินโฉนดเลขที่ 1702 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ดินโฉนดเลขที่ 1994 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และโรงงานพร้อมเครื่องจักรที่ตั้งอยู่ในโรงงานนั้น ๆ ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 แต่โจทก์อ้างว่าเป็นการรับโอนมาโดยมิชอบ จึงได้ฟ้องร้องว่ากล่าวจำเลยต่อศาลถึง 3 คดีดังกล่าวมา โดยแต่ละคดีได้เรียกร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนหนี้ทั้งหมด แม้บางคดีจะได้กล่าวหาจำเลยในมูลละเมิดและให้มีการชดใช้ค่าเสียหายมาด้วย แต่วัตถุประสงค์หลักก็คือ ให้เพิกถอนการโอนสินทรัพย์กลับคืนมาทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้ในคำขอท้ายฟ้องของคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3331/2551 ให้จำเลยส่งมอบที่ดินพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตทั้งหมดคืนแก่โจทก์ เป็นการอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดที่ขอให้เพิกถอนคืนมา โดยเหตุผลเดียวก็คือว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้โดยชอบ จึงไม่ต่างกับคดีนี้ ที่โจทก์มาฟ้องอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของติดตามเอาคืนทรัพย์สินเครื่องจักรบางรายการตามที่ปรากฏในคำฟ้อง โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อมาเก็บไว้ในโรงงานไม่เกี่ยวกับหนี้ใด ๆ ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบความจริงและขอให้ส่งมอบคืนในคดีก่อนได้อยู่แล้ว เพราะหากศาลพิจารณาได้ความจริงดังที่อ้าง ก็ไม่อาจให้จำเลยบังคับชำระหนี้ในตัวเครื่องจักรที่ไม่มีมูลหนี้เกี่ยวข้องใด ๆ และต้องส่งมอบคืนอยู่ในตัว การมาฟ้องเรียกร้องเครื่องจักรคืนในคดีนี้อีกจึงสืบเนื่องมาจากคดีก่อนที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ย่อมถือว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) รูปคดีไม่มีเหตุจำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่น ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ