แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรรมวิธีในการทำภาพในแผ่นแม่พิมพ์หรือเพลท จะต้องใช้ฟิล์มโพสซิติปทาบกับแผ่นเพลท แล้วปิดด้วยกระจกอัดให้ฟิล์มสนิทนแน่นกับแผ่นเพลทโดยวิธีดูดลม จากนั้นจึงฉายแสงอุลตราไวโอเลตผ่านฟิล์ม แล้วนำแผ่นเพลทไปล้างด้วยสารละลายจึงจะปรากฏภาพบนแม่พิมพ์หรือเพลทนั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์นำเข้าแผ่นอะลูมิเนียมเคลือบสารไวแสงใช้ทำเป็นแม่พิมพ์ สินค้าดังกล่าวจึงเป็นแผ่นเพลทสำหรับใช้ทำแม่พิมพ์ มิใช่ฟิล์มสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 37.01ข. จึงมิได้รับการลดอัตราอากรจากอัตราร้อยละ 40 ลงเหลือร้อยละ 10 ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2515 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม2515 ที่ใช้บังคับขณะนำเข้า.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งและนำแผ่นเพลทที่เคลือบด้วยสารไวแสงสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักร โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าสินค้ามีราคา 141,979.11 บาท เป็นสินค้าพิกัดประเภทที่ 37.01 ข.อัตราอากรร้อยละ 40 ลดเหลือร้อยละ 10 คิดเป็นอากรขาเข้า14,197.91 บาท ภาษีการค้า 2,940.03 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 294 บาทรวมเป็นเงิน 17,431.94 บาท ต่อมาพนักงานของโจทก์ตรวจสอบพบว่าสินค้าดังกล่าวมิใช่ฟิล์มสำหรับทำแม่พิมพ์ อันเป็นสินค้าที่ได้รับการลดหย่อนอัตราอากรข้างต้นตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2525 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2515 แต่เป็นวัตถุอื่นที่เป็นแผ่นซึ่งไวต่อแสงและยังมิได้ถ่าย โจทก์จึงประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 40 คิดเป็นเงินค่าอากร 72,486.81บาท ภาษีการค้า 50,123.36 ภาษีบำรุงเทศบาล 5,041.15 บาท เมื่อนำภาษีอากรที่จำเลยชำระให้ก่อนแล้วมาหักออก จำเลยคงชำระขาดไป คืออากรขาเข้า 58,288.80 บาท ภาษีการค้า 47,183.33 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 4,718.33 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบและให้นำเงินที่ขาดมาชำระ จำเลยมิได้ชำระในกำหนด จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรที่ค้างรวมทั้งเงินเพิ่มเป็น 51,901.66 บาทรวมเป็นเงิน 162,092.12 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีอากรที่ค้างรวมทั้งเงินเพิ่มดังกล่าว กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินค่าอากรที่ค้างจำนวน 110,190 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สินค้าดังกล่าวเป็นแผ่นฟิล์มเคลือบสารไวแสงให้ทำแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์หนังสือจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 37.01 ข. ซึ่งได้รับการลดอัตราอากรจากร้อยละ 40ลงเหลือร้อยละ 10 เป็นเงินค่าภาษีทั้งสิ้น 6,431.94 บาท จำเลยชำระเงินดังกล่าวไปครบถ้วนและถูกต้องแล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ก็ได้ตรวจปล่อยสินค้านั้นแล้ว ถ้าเป็นเรื่องคำนวณตัวเลขเว้นอากรคลาดเคลื่อน ซึ่งมีอายุความเรียกร้อง 2 ปี คดีโจทก์ก็ขาดอายุความ
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า สินค้ารายพิพาทเป็นฟิล์มสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์ จัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 37.01 ข. จำเลยได้รับการลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าภาษีอากรเพิ่มรวมทั้งเบี้ยปรับ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรฟังข้อเท็จจริงว่า สินค้ารายพิพาทเป็นแผ่นโลหะอะลูมิเนียมเคลือบด้วยสารไวแสง มีกรรมวิธีในการทำภาพให้ปรากฏในแผ่นโลหะอะลูมิเนียมดังกล่าวโดยจะต้องใช้ฟิล์มโพสซิติปทาบกับแผ่นเพลท แล้วปิดด้วยกระจกอัดแน่นโดยใช้วิธีดูดลมเพื่อให้ฟิล์มสนิทแน่นกับแผ่นเพลทจากนั้นก็จะฉายแสงอุลตราไวโอเลตผ่านฟิล์ม แล้วนำแผ่นเพลทไปล้างด้วยสารละลายก็จะปรากฏภาพ จากนั้นจึงนำไปเป็นแม่พิมพ์ แผ่นโลหะอะลูมิเนียมเคลือบด้วยสารไวแสงดังกล่าวจึงเป็นแผ่นเพลทสำหรับใช้ทำแม่พิมพ์ มิใช่ฟิล์มสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์ ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 37.01 ข. จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการลดหย่อนค่าอากร ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2515 ลงวันที่7 กรกฎาคม 2515 ซึ่งลดหย่อนอากรขาเข้าจากอัตราร้อยละ 40 ลงเหลือร้อยละ 10 ดังนั้นจำเลยจึงต้องชำระอากรขาเข้าสำหรับสินค้ารายพิพาทร้อยละ 40 โดยไม่มีการลดหย่อนและต้องชำระอากรในส่วนที่ขาด คืออากรขาเข้า 58,288.80 บาท ภาษีการค้า 47,183.33 บาทภาษีบำรุงเทศบาล 4,718.33 บาท และเงินเพิ่ม 51,901.66 บาท รวมเป็นเงิน 162,092.12 บาทแก่โจทก์
พิพากษากลับให้จำเลยชำระภาษีอากรจำนวนดังกล่าว คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก