แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ใช้ใบมอบอำนาจของ อ. ซึ่งเป็นใบมอบอำนาจปลอมโอนขายที่ดินของ อ. ให้จำเลยที่ 2 โดย อ. มิได้รู้เห็นยินยอม แล้วจำเลยที่ 2 นำที่ดินไปขายฝากแก่จำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและย่อมไม่มีอำนาจที่จะนำไปขายฝากแก่จำเลยที่ 3 ได้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ อ. จึงมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นกลับคืนมาเป็นของ อ. ตามเดิมได้
โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินซึ่งตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนครปฐม การที่ศาลแพ่งรับฟ้องรับคำให้การ ตลอดจนสืบพยานจนเสร็จการพิจารณาย่อมแสดงว่าศาลแพ่งยอมรับพิจารณาคดีนี้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14 (4) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้จัดการมรดกของสมเด็ดพระนางเจ้าอินทรศักดิศรี สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศรีทรงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๒๑๙๖ เมื่อราวปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นายถวัลย์ สุจริตกุล ขอซื้อที่ดินจากพระองค์ท่านหลายแปลงและบอกว่ามีผู้ขอซื้ออีกหลายแปลง พระองค์ท่านทรงตกลงขายให้และทรงลงพระนามในหนังสือมอบอำนาจหลายฉบับที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้นายถวัลย์ไปจัดการโดยเข้าพระทัยว่านายถวัลย์ใช้หนังสือมอบอำนาจหมดแล้ว ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พระองค์ท่านทรงทราบว่าจำเลยที่ ๑ ขายที่ดินโฉนดที่ ๒๑๙๖ ให้แก่จำเลยที่ ๒ ไปโดยพระองค์ท่านไม่เคยทรงมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ขายที่ดิน และจำเลยที่ ๒ ขายฝากที่ดินให้จำเลยที่ ๓ ไปแล้ว ทั้งนี้เพราะนายถวัลย์ใช้หนังสือมอบอำนาจที่พระองค์ท่านทรงลงพระนามให้ไม่หมด เมื่อนายถวัลย์ถึงแก่กรรมจำเลยที่ ๑ สมคบกับจำเลยที่ ๒ ปลอมหนังสือมอบอำนาจและโอนให้แก่จำเลยที่ ๒ การโอนจึงเป็นโมฆะการจดทะเบียนขายฝากให้จำเลยที่ ๓ ก็เป็นโมฆะไปด้วย ผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของพระองค์ท่านมีสิทธิขอให้เพิกถอนเอาที่ดินคืนได้ ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และการขายฝากระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ ให้ที่ดินกลับคืนมาอยู่ในรพะนามสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีตามเดิม หากจำเลยไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าซื้อที่ดินมาโดยสุจริตด้วยการจัดการของนายถวัลย์ตัวแทนและผู้จัดการผลประโยชน์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี หากมีการปลอมหนังสือมอบอำนาจก็เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพระองค์ท่านที่ทรงลงพระนามในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความมอบให้นายถวัลย์ไป จึงฟ้องเพิกถอนการโอนมิได้
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนครปฐม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง จำเลยที่ ๓ มิได้สมคบกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในการทำสัญญาขายฝากและมิได้ประมาทเลินเล่อ แต่เห็นว่าจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงรับซื้อฝากที่ดินไว้จนหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๓ เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ซึ่งทรงทราบดีว่าได้มอบโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ใดไป เมื่อนายถวัลย์ถึงแก่กรรมก็มิได้ทรงประกาศยกเลิกเอกสารต่าง ๆ ที่ทรงลงประนามไว้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กับนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ในโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ ๒๑๙๖ ตำบลกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ให้กลับคืนมาในนามของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจรีพระวรราชชายาหากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยก็ใหถือเอาคำพิพากษานี้เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความสมควรให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๕,๐๐๐ บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า ที่พิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนครปฐมโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งโดยไม่ขออนุญาตก่อนเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งนั้น จะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งก็ได้แต่อยู่ในดุลพินิจของ
ศาลแพ่งที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๔(๔) การที่ศาลแพ่งรับฟ้อง รับคำให้การ ตลอดจนสืบพยานจนเสร็จการพิจารณาย่อมแสดงให้เห็นว่า ศาลแพ่งใช้ดุลพินิจยอมรับพิจารณาคดีนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
จำเลยที่ ๓ ฎีกาข้อสุดท้ายว่าสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทรงลงพระนามในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแล้วทรงมอบให้นายถวัลย์พร้อมกับโฉนดที่ดิน เมื่อนายถวัลย์ถึงแก่กรรมก็มิได้ทรงเรียกคืนจากจำเลยที่ ๑ แสดงว่าทรงรู้เห็นหรือมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ โอนที่ให้จำเลยที่ ๒ ได้ จำเลยที่ ๓ รับซื้อฝากที่พิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน จะอ้างความประมาทเลินเล่อของเจ้าของที่ดินเดิมมาเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ หาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๓ รับซื้อฝากที่พิพาทมาจากจำเลยที่ ๒ จึงต้องพิเคราะห์ว่า จำเลยที่ ๒ มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทหรือไม่ ถ้าจำเลยที่ ๒ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทก็ไม่มีอำนาจจะนำที่พิพาทไปขายให้จำเลยที่ ๓ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการปลอมหนังสือมอบอำนาจ และจำเลยที่ ๑ ได้นำหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ไปเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนขายที่พิพาทให้จำเลยที่ ๒ ในราคา ๒๘๐,๐๐๐ บาท แต่ราคาประเมินของทางราชการ ที่พิพาทมีราคาประเมินประมาณ ๕๔๐,๐๐๐ บาท สูงกว่าราคาที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซื้อขายกัน ทั้งยังได้ความในช่วงนี้ พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งจำเลยที่ ๒ อ้างว่าซื้อที่พิพาทมาจากสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี นั้น ฐานะการเงินของจำเลยที่ ๒ ไม่ดีธนาคารเริ่มจะทวงหนี้และไม่ยอมให้จำเลยที่ ๒ เบิกเงินเกินบัญชีอีก จึงไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ซื้อที่พิพาทและชำระเงินให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีและพระองค์ท่านทรงรู้เห็นยินยอมในการขายที่พิพาทแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าพระองค์ท่านทรงขายที่พิพาทให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่พิพาทที่จะนำไปขายฝากให้จำเลยที่ ๓ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีจึงมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกลับคืนมาเป็นของพระองค์ท่านตามเดิม
พิพากษายืน