คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ.2479 ซึ่งได้แก้ไขแล้วโดยพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2504 นั้น. จะเกิดเป็นความผิดขึ้นเริ่มแต่วันทำการปลูกสร้างติดต่อเนื่องกันไปจนถึงวันทำการปลูกสร้างอาคารเสร็จ. อายุความฟ้องร้องย่อมนับถัดจากวันที่การปลูกสร้างอาคารเสร็จลง หาใช่ความผิดนั้นจะต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจต่อเติมอาคารร้านค้าของจำเลยเป็นการปลูกสร้างอาคารขึ้นใหม่ล้วนและต่อเติมอาคารโดยมิได้รับอนุญาตเป็นการฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช 2479 ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 มาตรา 4, 6, 7, 11 พระราชบัญญัติควบคุมการสร้างอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2504 มาตรา 3 และพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479ในเขตเทศบาลเมืองนครปฐม พ.ศ. 2497 มาตรา 2, 3 ชั้นแรก จำเลยให้การปฏิเสธและตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความต่อมาจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้สร้างบางส่วนตามที่โจทก์ฟ้องโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง แต่คดีขาดอายุความและจำเลยได้รื้อส่วนก่อสร้างที่โจทก์ฟ้องทั้งหมด และสร้างใหม่ตามแบบแปลนที่ขออนุญาตต่อเทศบาลไว้แล้ว และเทศบาลจะอนุญาตตามที่ขอ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อเกินกว่า 1 ปีนับจากวันสุดท้ายแห่งการกระทำผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(5) พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ว่าคดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ เพราะตราบใดที่การปลูกสร้างอาคารฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมาย ยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้ทำการปลูกสร้างได้ ตราบนั้นผู้ปลูกสร้างยังต้องมีความผิดเพราะเป็นความผิดต่อเนื่องอยู่เรื่อยมาตลอดเวลาที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ซึ่งได้แก้ไขแล้วโดยพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2504 นั้น จะเกิดเป็นความผิดขึ้นเริ่มแต่วันทำการปลูกสร้างติดต่อเนื่องกันไปจนถึงวันทำการปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องย่อมนับถัดจากวันที่การปลูกอาคารเสร็จลง หาใช่ว่าความผิดนั้นจะต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานไม่ โดยเฉพาะคดีนี้จำเลยสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2508 อายุความเริ่มนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2508 ครบกำหนด 1 ปีตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5) ในวันที่ 30 กันยายน 2509 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 2 มีนาคม 2510 จึงเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์.

Share