คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. การประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคสามบัญญัติว่า “ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างที่โอนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ กปภ. ตามวรรคหนึ่ง ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลาง ก่อน จนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แต่จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้” ตามบทบัญญัตินี้ย่อมมีความหมายว่า เมื่อข้าราชการที่โอนไปเป็นพนักงานของจำเลยได้รับบรรจุแต่งตั้งจากผู้ว่าการแล้ว จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเดิมไม่ได้ โดยไม่รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ด้วย โจทก์เป็นข้าราชการที่โอนมาและได้รับบรรจุและแต่งตั้งจากผู้ว่าการของจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เท่ากับที่ได้รับอยู่เดิมก่อนโอนมา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคำฟ้องว่าค่าเช่าบ้านเป็นค่าจ้าง จึงถือว่าเป็นเงินสวัสดิการ จัดเป็นประเภท”สิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ” ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2522 จำเลยได้รับโอนโจทก์มาจากกองประปาชนบท กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาเป็นพนักงานของจำเลยปัจจุบันโจทก์มีตำแหน่งเป็นนายช่างโยธา 5 ก่อนโจทก์โอนมาเป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ได้รับค่าเช่าบ้านเดือนละ 286 บาทเมื่อโจทก์โอนมาเป็นพนักงานของจำเลย จำเลยได้จ่ายค่าเช่าบ้านให้โจทก์เดือนละ 286 บาท จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2522 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522 จำเลยระงับการจ่ายเงินค่าเช่าบ้านให้โจทก์โดยออกข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยการจ่ายเงินค่าเช่าบ้านของผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. 2523 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2530จำเลยได้ยกเลิกข้อบังคับดังกล่าวโดยประกาศใช้ข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยการจ่ายเงินค่าเช่าบ้านของผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. 2530 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาคพ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคสาม บัญญัติให้ข้าราชการหรือลูกจ้างที่โอนมาเป็นพนักงานหรือลูกจ้างการประปาส่วนภูมิภาคตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน จนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แต่จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้ ข้อบังคับของจำเลยจึงขัดต่อกฎหมาย เพราะเดิมโจทก์มีสภาพการจ้างอย่างไร เมื่อโอนมาเป็นพนักงานของจำเลยโจทก์ต้องได้รับสภาพการจ้างเหมือนเดิม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2522 จนถึงวันที่31 มีนาคม 2528 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 45,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยจริง แต่จำเลยไม่เคยจ่ายค่าเช่าบ้านให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยการจ่ายเงินค่าเช่าบ้านของผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. 2523 ข้อบังคับดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและเป็นสภาพการจ้างที่โจทก์จำเลยและพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคสุดท้ายพนักงานที่โอนมาเมื่อได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแล้วจะได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม ไม่รวมถึงสิทธิหรือประโยชน์ต่าง ๆ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับต้องเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลย โจทก์ได้รับการบรรจุครั้งแรกประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร และไม่เคยย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ท้องที่อื่น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยการจ่ายเงินค่าเช่าบ้านของผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. 2523 ข้อ 5(2) ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเพราะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 5 ปี หากฟังว่าโจทก์มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ โจทก์ก็มีสิทธิเบิกถึงวันที่ 8 มีนาคม 2528เท่านั้น เพราะโจทก์ได้สมรสกับนางสาวชนิดา ฉายารินทร์ ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยและมีบ้านพักของตนเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่า เดิมโจทก์รับราชการอยู่ที่กองประปาชนบท กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านเดือนละ 286 บาท เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2522 โจทก์ได้โอนมาเป็นพนักงานของจำเลย นับตั้งแต่วันโอนมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2522โจทก์ไม่เคยได้รับเงินค่าเช่าบ้านจากจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง ซึ่งเท่ากับศาลแรงงานกลางฟังว่า ในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์และจำเลย ไม่เคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมาก่อนว่าจำเลยได้จ่ายค่าเช่าบ้านให้แก่โจทก์ ดังนั้นจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ มีปัญหาว่า การที่จำเลยไม่จ่ายค่าเช่าบ้านให้โจทก์ตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เดิมถือว่าเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 มาตรา 52วรรคสาม หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามบทมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า
“ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างที่โอนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ กปภ. ตามวรรคหนึ่ง ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน จนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แต่จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้
ตามบทบัญญัติข้างต้นย่อมมีความหมายว่า ข้าราชการหรือลูกจ้างที่จะโอนไปเป็นพนักงานของจำเลย จะได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมเมื่อยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งจากผู้ว่าการของจำเลย แต่เมื่อได้รับการบรรจุแต่งตั้งจากผู้ว่าการของจำเลยแล้ว คงมีเงื่อนไขว่าจะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเดิมไม่ได้โดยไม่รวมถึงสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้รับบรรจุและแต่งตั้งจากผู้ว่าการของจำเลยให้เป็นนายช่างโยธา ฝ่ายประปาชนบท ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2522 ตามสำเนาคำสั่งการประปาส่วนภูมิภาค ที่ 15/2522 เรื่อง บรรจุและแต่งตั้งพนักงานเอกสารหมาย ล.4 นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2522 เป็นต้นมาโจทก์ไม่อาจเรียกร้องสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่ากับที่ได้รับอยู่เดิม เว้นแต่เงินเดือนหรือค่าจ้าง ค่าเช่าบ้านที่โจทก์เรียกร้องมาในคดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคำฟ้องว่าเป็นค่าจ้างจึงถือว่าเป็นเงินสวัสดิการ จัดเป็นเงินประเภท “สิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ” ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ การที่จำเลยไม่จ่ายค่าเช่าบ้านให้โจทก์จึงหาขัดต่อพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคสามไม่
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยการจ่ายเงินค่าเช่าบ้านของผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. 2523 เอกสารหมาย ล.1 หรือไม่ เห็นว่ากรณีตามข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าเช่าบ้านไว้ในข้อ 5(2) ว่า ผู้ซึ่ง กปภ. บรรจุและแต่งตั้งให้เริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกในท้องที่ใด และยังคงปฏิบัติงานประจำในท้องที่นั้น ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้เริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกในกรุงเทพมหานครและยังคงปฏิบัติงานประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงฟังได้ว่าตามข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 5(2)โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้าน การที่จำเลยไม่จ่ายค่าเช่าบ้านให้โจทก์จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับแล้วและไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 20 ตามที่โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share