คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15348/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลแรงงานกลางจะรับฟังข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จะไม่ใช่เพราะโจทก์ขาดประสิทธิภาพในการทำงานถึงขนาดต้องเลิกจ้างก็ตาม แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์ขาดวุฒิภาวะในการเป็นผู้บริหารระดับสูง ใช้อารมณ์ฉุนเฉียว ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่อาจทำงานร่วมกับโจทก์ได้ ศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า มีพนักงานในแผนกของโจทก์ 2 คน ในจำนวน 4 คนลาออก เพราะไม่สามารถทนร่วมงานกับโจทก์ได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ 1 คุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารและความสามารถในการบังคับบัญชาบริหารจัดการภายในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ การที่โจทก์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเลิกจ้างโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้ง จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ค้างจำนวน 86,620.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 1,010,113.20 บาท นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2550 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 และจากต้นเงินจำนวน 86,620.90 บาท นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 7,604.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ของต้นเงิน 67,340.88 บาท นับแต่วันที่ 12 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2550 และจากต้นเงิน 7,604.88 บาท นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2550 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสิบห้าทุก 7 วัน ของต้นเงิน 67,340.88 บาท นับแต่วันที่ 12 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2550 และจากต้นเงิน 7,604.88 บาท นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2550 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายค่าชดเชยจำนวน 86,620.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ของต้นเงิน 1,010,113.20 บาท นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2550 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 และจากต้นเงิน 86,620.90 บาท นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสิบห้าทุก 7 วัน ของต้นเงิน 1,010,113.20 บาท นับแต่วันที่ 12 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2550 และจากต้นเงิน 86,620.90 บาท นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2550 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2550 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสะสม 291,862 บาท และเงินสมทบ 291,862 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2550 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 1,212,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2550 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 326,402.31 บาท นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบจำนวน 326,402.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2550 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่น ๆ นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2548 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 307,813 บาท ระหว่างทำงาน โจทก์สมัครเป็นสมาชิกกองทุนจำเลยที่ 2 วันที่ 11 มิถุนายน 2550 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลทันที โดยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจำนวนละเท่ากับค่าจ้าง 90 วัน ให้โจทก์ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ส่วนจำเลยที่ 2 จ่ายคืนเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมให้โจทก์ 326,402.31 บาท เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 แล้ววินิจฉัยว่า การประเมินผลการทำงานของโจทก์ในครั้งสุดท้ายก่อนเลิกจ้าง กระทำผิดระเบียบวิธี โจทก์ไม่ได้ทำผิดระเบียบวินัยหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและในแผนกของโจทก์มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เติบโตกว่าแผนกอื่น ๆ การที่มีพนักงาน 2 คน ใน 4 คน ลาออกโดยอ้างว่าไม่สามารถทำงานร่วมกับโจทก์ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ขาดประสิทธิภาพถึงขนาดต้องเลิกจ้าง การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นธรรม ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อาจอาศัยเหตุที่โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ก่อนครบกำหนด 3 ปี มาเป็นข้ออ้างไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์ได้ เห็นสมควรกำหนดให้เท่ากับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมของโจทก์ที่ได้รับไปแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลแรงงานกลางจะรับฟังข้อเท็จจริงโดยรวมว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จะไม่ใช่เพราะโจทก์ขาดประสิทธิภาพในการทำงานถึงขนาดต้องเลิกจ้างก็ตาม แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์ขาดวุฒิภาวะในการเป็นผู้บริหารระดับสูง ใช้อารมณ์ฉุนเฉียว ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่อาจทำงานร่วมกับโจทก์ได้ ซึ่งข้อนี้ศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า มีพนักงานในแผนกของโจทก์ 2 คน ในจำนวน 4 คน ลาออก เพราะไม่สามารถทนร่วมงานกับโจทก์ได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ 1 คุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารและความสามารถในการบังคับบัญชา บริหารจัดการภายในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ การที่โจทก์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1ต้องเลิกจ้างโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้ง จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นและไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การประเมินผลงานครั้งสุดท้ายผิดระเบียบวิธีนั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากทางนำสืบเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 326,502.31 บาท นับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2550 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบจำนวน 326,402.31 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

Share