คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อายุความฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เป็นกรณีที่ทายาทที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งและทายาทผู้นั้นยังครอบครองทรัพย์มรดกอยู่หรือมีทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนแล้ว กรณีนี้ทายาทผู้นั้นย่อมสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามมาตรา 1748 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754 ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ทายาทที่มิได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วยตนเองแต่มีทายาทอื่นครอบครองแทนต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี และการที่ทายาทบางคนได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นแล้วแม้ครอบครองแทนนานเพียงใด หากยังไม่ได้เปลี่ยนเจตนาการยึดถือครอบครอง ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนอยู่นั่นเอง เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองสิทธิในกิจการโรงเรียนอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ และมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือครอบครอง แม้โจทก์จะฟ้องเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีย่อมไม่ขาดอายุความ และไม่อาจยกเอาอายุความมรดกตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามเพิ่มชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นลงหุ้นด้วยเงิน 4,000,000 บาท ลงในหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยทรัพย์มรดกส่วนของโจทก์ที่มีอยู่แล้วแทนการลงเงิน ให้จำเลยทั้งสามเพิ่มชื่อโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ลงหุ้นด้วยเงิน 6,000,000 บาท เป็น 4,000,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามแบ่งจำนวนหุ้นในกิจการของจำเลยที่ 1 และให้จดทะเบียนเพิ่มชื่อโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้ถือหุ้นในหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1 ตามส่วนแห่งทรัพย์มรดกโจทก์ที่มีสิทธิอยู่ 1 ส่วน ใน 12 ส่วน แทนการลงเงิน หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย นางสาวภัทรพร บุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ทายาทที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกจะต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกเสียภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เมื่อพ้น 1 ปีแล้ว จะถือว่าทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกแทนไม่ได้ เมื่อโจทก์ซึ่งไม่ได้ครอบครองสิทธิในทรัพย์มรดกพิพาทมาฟ้องคดีนี้ภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายกว่า 10 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า อายุความฟ้องคดีมรดกตามมาตรา 1754 เป็นกรณีทายาทที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกในฐานะที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องฟ้องเสียภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทรู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ทั้งนี้มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หากเป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกนั้นยังไม่ได้แบ่งปัน และทายาทผู้นั้นครอบครองทรัพย์มรดกอยู่หรือมีทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทน ย่อมสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ตามมาตรา 1748 โดยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่บังคับให้ทายาทที่มิได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วยตนเองแต่มีทายาทอื่นครอบครองแทนจะต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองแทนภายใน 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้าง การที่ทายาทบางคนครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น แม้เป็นเวลาช้านานเพียงใดหากยังไม่ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือครอบครอง ก็ยังคงเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นอยู่นั่นเอง ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองสิทธิในกิจการโรงเรียนอันเป็นทรัพย์มรดกของนายเคี๋ยงน้ำแทนโจทก์ และจำเลยที่ 2 มิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือครอบครอง แม้โจทก์จะฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวเมื่อเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีก็ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจยกเอาอายุความตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share