คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำหนังสือให้โจทก์มีข้อความสำคัญว่า จำเลยที่ 1ยอมรับว่ามีสินค้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1ขาดบัญชีคิดตามราคาทุนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์และยินยอม จะใช้ค่าสินค้าที่ขาดบัญชีแก่โจทก์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ต่อโจทก์อายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านค้าของโจทก์มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2525 ถึงวันที่ 30 กันยายน2526 จำเลยที่ 1 ตกลงว่าถ้าก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อจะยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สิ้นเชิง มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ทำงานด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลตรวจสอบหรือทำบัญชีสินค้าให้ถูกต้อง ทำให้สินค้าของโจทก์หายไปเป็นเงินทั้งสิ้น 1,150,945.97 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยไม่ชำระให้โจทก์ จำเลยทั้งสามผิดนัดจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์ นับแต่วันที่30 กันยายน 2526 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 14 เดือนเศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 14 เดือน เป็นเงิน 100,707.77 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,251,653.74 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำให้สินค้าของโจทก์ขาดบัญชี จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด หากต้องรับผิดก็ไม่ควรรับผิดเกินราคาทุนของสินค้าและไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย โจทก์ฟ้องคดีพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้การว่า สัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะเพราะคณะกรรมการของโจทก์มิได้ลงชื่อเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 1มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเกินกว่าราคาทุนของสินค้าที่ขาดบัญชี และคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมไม่มีผู้ใดเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรมโจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางเจือพรรณ เพชรวิเศษ ทายาทและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2526 ตามเอกสารหมายจ.8 และมอบอำนาจให้นางประพิศภรรยามีหนังสือขอประนอมหนี้ตามเอกสารหมาย จ.13 ถึงโจทก์แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า เอกสารที่โจทก์อ้างว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีข้อความสำคัญแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่ามีสินค้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ขาดบัญชีคิดตามราคาทุนเป็นเงิน 846,773.97 บาทเท่านั้น หามีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์และยินยอมจะใช้ค่าสินค้าที่ขาดบัญชีนั้นต่อโจทก์ไม่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับสภาพต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องด้วยทำหนังสือรับสภาพให้ อันจะเป็นเหตุให้อายุความฟ้องคดีของโจทก์สะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ส่วนเอกสารหมาย จ.13 มีนางประพิศเป็นผู้ทำ แม้จะมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 มอบให้เป็นตัวแทนในการตกลง ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างของนางประพิศ เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 มอบหมายให้นางประพิศดำเนินการเช่นนั้น จึงรับฟังเอกสารหมาย จ.13 มายันจำเลยที่ 1 ไม่ได้ โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2526 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2527 จึงพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา448 วรรคแรก
พิพากษายืน.

Share