คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1520/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และความรับผิดของสำนักงานปรับปรุงแหล่งชุมชนเทศบาลนครหลวง เฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมให้แก่การเคหะแห่งชาตินั้น มีความหมายรวมถึงโอนสิทธิการเช่าที่ดินไปด้วย เพราะการจัดสรรที่ดินและปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมเทศบาลนครหลวงต้องเช่าที่ดินจากผู้อื่นมาดำเนินการ
คดีก่อนศาลสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ถอนฟ้อง ยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดี โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์รับโอนสิทธิการเช่าจากสำนักงานปรับปรุงแหล่งชุมชน เทศบาลนครหลวงตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองอยู่ในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิจึงถือว่าอยู่โดยละเมิด พิพากษาให้ขับไล่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกามีว่า

1. โจทก์รับโอนสิทธิการเช่ามาโดยชอบหรือไม่

2. การมอบอำนาจของโจทก์เป็นไปโดยชอบหรือไม่ และ

3. ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่

สำหรับปัญหาข้อแรก จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นทำนองว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ให้โอนเฉพาะกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สินและสมบัติอันเกี่ยวกับการสงเคราะห์ การจัดสรรที่ดิน การปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมของสำนักงานปรับปรุงแห่งชุมชน เทศบาลนครหลวงให้โจทก์หาได้ให้โอนสิทธิการเช่าที่ดินไปด้วยไม่ พิเคราะห์แล้วประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 316 ข้อ 5 ความว่า “ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิหนี้และความรับผิดของส่วนราชการ และหน่วยงานดังต่อไปนี้ ให้แก่การเคหะแห่งชาติ

(1)….. (2)……. (3)……..

(4) สำนักงานปรับปรุงแหล่งชุมชน เทศบาลนครหลวง เฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม” ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มีความหมายรวมถึงโอนสิทธิการเช่าที่ดินไปด้วย เพราะการจัดสรรที่ดินและปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมในที่ดินรายนี้ เทศบาลนครหลวงต้องเช่าที่ดินจากโจทก์ร่วมมาดำเนินการ

ปัญหาข้อ 2 จำเลยทั้งสองฎีกาว่า “การมอบอำนาจของโจทก์เป็นไปโดยชอบหรือไม่ เป็นปัญหาระหว่างโจทก์กับผู้รับมอบอำนาจ เพราะประเด็นสำคัญนี้เป็นผลต่อจำเลยโดยตรงนั้นก็คือ โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องและใช้สิทธินั้นโดยสุจริตหรือไม่ แม้ว่าโจทก์จะได้มอบอำนาจแก่นายหลัก คำกิ่งโดยถูกต้อง แต่ถ้าโจทก์ไม่มีสิทธิและอำนาจโดยตรงและใช้อำนาจโดยไม่สุจริตแล้ว ก็ไม่มีผลบังคับแก่จำเลยทั้งสองได้” ตามฎีกาดังกล่าวพอเข้าใจได้ว่าหมายถึงโจทก์รับโอนสิทธิการเช่ามาโดยไม่ชอบ จึงไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วในข้อ 1 ส่วนฎีกาที่ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ที่แก้ไขแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาข้อสุดท้าย จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วถอนฟ้องไป แม้ศาลจะยังมิได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดี โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่อีกก็เป็นฟ้องซ้ำ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่กฎหมายห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148นั้นหมายความว่า คดีก่อนศาลต้องมีคำพิพากษาชี้ขาดให้ขับไล่หรือไม่ขับไล่จำเลย โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีหลังแล้ว จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องอีกปรากฏข้อเท็จจริงตามฎีกาว่าคดีก่อนศาลสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ถอนฟ้องยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดี โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีใหม่ได้”

พิพากษายืน

Share