คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2328/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้คำว่าเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) และมาตรา 265 จะหมายถึงเอกสารของทางราชการไทยเท่านั้นก็ตาม แต่การที่จำเลยประทับตราปลอมของด่านตรวจคนเข้าเมืองหาดใหญ่ ที่อนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางนั้นผ่านออกก็เป็นการปลอมเอกสารราชการของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 91, 83, 33 ริบของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6498/2535ของศาลอาญา
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 (ที่ถูกมาตรา 264 วรรคแรก) 265 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา 91 ลงโทษตามมาตรา 264 รวม 10 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 20 ปี ตามมาตรา 265 รวม 5 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 15 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 35 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในห้า คงจำคุก 28 ปีแต่โทษจำคุกเกิน 20 ปี ให้คงจำคุกเพียง 20 ปี ตามมาตรา 91ริบของกลาง นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6318/2538ของศาลอาญา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษตามมาตรา 264 รวม 10 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก20 ปี และลงโทษตามมาตรา 265 รวม 5 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปีรวมจำคุก 15 ปี รวมลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 35 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในห้าแล้วคงจำคุก28 ปี แต่เมื่อกำหนดโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265อันเป็นความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี จึงให้คงจำคุกเพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ริบของกลาง ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6318/2538 ของศาลอาญา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง และคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยในแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธน่าสงสัยควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีจึงยังคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า เอกสารที่ตรวจยึดได้จากจำเลยเป็นหนังสือเดินทางของรัฐต่างประเทศมิใช่เอกสารราชการของ รัฐบาลไทยจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องนั้นเห็นว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยเกี่ยวกับหนังสือเดินทางของกลางรวม 10 ฉบับ ซึ่งเป็นหนังสือเดินทางของประเทศสหรัฐอเมริกา 6 ฉบับ ประเทศอังกฤษ 3 ฉบับ และประเทศเนเธอร์แลนด์ 1 ฉบับ เพียงฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 เท่านั้น มิได้ลงโทษฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265ส่วนที่จำเลยปลอมดวงตราประทับของด่านตรวจคนเข้าเมืองหาดใหญ่และประทับลงในหนังสือเดินทางของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น แม้คำว่าเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา 1(8) และมาตรา 265 จะหมายถึงเอกสารของทางราชการไทยเท่านั้นก็ตามแต่การที่จำเลยประทับตราปลอมของด่านตรวจคนเข้าเมืองหาดใหญ่ที่อนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางนั้นผ่านออกก็เป็นการปลอมเอกสารราชการของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แล้ว ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share